ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk Of The Town
กับกรณี "ค่าโง่" คำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำที่กำลังระอุแดดอยู่ในขณะนี้ หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม. 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2559 มีคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
ยังผลให้ถูกบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองที่ถูกปิด ยื่นเรื่องฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 750 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือกว่า 30,000 ล้านบาท
โดยระบุว่า เป็นการยกเลิกสัมปทานอย่างไม่เป็นธรรม และละเมิดข้อตกลงการเปิดเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
"เนตรทิพย์ ออนไลน์" จึงขอย้อนรอยมหากาพย์ค่าโง่เหมืองทองคำคิงส์เกต 30,000 ล้าน ที่กำลังระอุแดด ดังนี้ :
1. ปี พ.ศ.2543 ยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย ได้มีการเปิดให้สัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำ ชื่อ “เหมืองชาตรี” บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 1,259 ไร่ โดยบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ชนะ ได้สิทธิสัมปทานไป และได้ให้บริษัทลูกในไทย คือ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการ
2. ผลประโยชน์จากสัมปทานการทำเหมืองในครั้งนี้ รัฐบาลจะได้ใน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1) ค่าภาคหลวง ที่คิดจากปริมาณแร่ที่พบสายแร่ คิดเป็นมูลค่านับ 10,000 ล้านบาท 2) เมื่อขุดแร่ทองคำขึ้นมาแล้ว จะสามารถส่งออกไปขายต่อให้ประเทศอื่น เพื่อนำไปหลอมทองคำบริสุทธิ์ต่อไป และ 3) มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องและความเจริญในพื้นที่ รวมถึงสร้างงานให้คนในละแวกใกล้เคียง
3. ปี 2550 คล้อยหลัง 7 ปี นับแต่เปิดเหมืองมีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกมาร้องเรียนต่อรัฐบาล ว่าใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะมีเสียงดังจากการระเบิดเหมืองกันตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น การที่เหมืองแร่เปิดอยู่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ถูกทำลาย และปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนัก ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้อีก ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีผื่นคัน ตุ่มหนองทางผิวหนัง
4. ปี พ.ศ.2551 ระหว่างที่ภาครัฐลงมาตรวจสอบ บมจ.อัครา ได้ขอสัมปทานเพิ่มเติมอีก 9 แปลง ในจังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ 2,466 ไร่ และได้รับสัมปทานจากรัฐ วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571 สัมปทานยาว 20 ปี โดยเรียกกันว่า “เหมืองทองคำชาตรีเหนือ” ท่ามกลางกระแสคัดค้านของผู้คนในพื้นที่ ที่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากสัมปทานการทำเหมืองแร่ดังกล่าว
5. 24 สิงหาคม 2557 ดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมือง โดยระบุว่า พบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และสารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%
6. 16 มกราคม 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการสุ่มตรวจ และพบว่า มีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง มีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัท อัครา หยุดประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน
7. เมษายน 2558 กพร. ได้จ้างบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำ มาตรวจสอบที่เหมืองชาตรี ปรากฎว่า ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในพื้นที่ เพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มชาวบ้านมีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมืองทองคำ และฝ่ายที่ต่อต้านอยากให้เหมืองยุติ
8. 14 ธันวาคม 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ประกาศให้ “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป”
เป็นการใช้ มาตรา 44 ระงับข้อขัดแย้ง ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
9. เมื่อถูกระงับไม่ให้ทำเหมือง บริษัท อัครา ได้ปลดพนักงานทั้งหมด 265 คน รวมถึงพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 450 คน ก็ถูกเลิกจ้าง และหยุดการทำงานของเครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด ก่อนจะหยุดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มกราคม 2560
10. 19 พฤษภาคม 2559 กลุ่มพนักงาน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเหมือง จำนวน 5,000 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งปิดเหมืองทองคำดังกล่าว โดยระบุว่า ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมแสดงผลการตรวจสุขภาพ ว่าไม่ได้ป่วยไข้จากเหมืองทองแต่อย่างใด พร้อมวิงวอนให้นายกฯ ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านตัวจริง
อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งนักวิชาการที่นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้ออกโรงคัดง้างการทบทวนการเปิดเหมืองดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยระบุว่า ไทยเราไม่มีความพร้อมที่จะทำเหมือง รัฐบาลมีแต่ให้ต่างชาติเข้ามาทำ โดยที่นักลงทุนเหล่านั้นไม่ได้รับผิดชอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนรอบเหมืองให้ดี
11. 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกท ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทย เป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ (22,672 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
12. ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้ บริษัทคิงส์เกท กลายเป็นประเด็นเรื่องการเมือง โดยวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ในการประชุมรัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากใช้อำนาจ ม.44 ปิดเหมืองทองคำชาตรี จนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องและมีแนวโน้มที่รัฐบาลไทยจะแพ้คดี และเสียค่าชดใช้ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่คนไทยต้องร่วมกันชดใช้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ฐานะผู้ใช้มาตรา 44 จะไม่มีส่วนรับผิด
13. 30 ตุลาคม 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไทย มีทางเลือกอยู่ ว่าจะยอมจ่ายให้เรื่องจบ, ประนีประนอมแล้วให้กลับมาเปิดเหมืองต่อ หรือสู้คดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในที่ประชุม ครม.ด้วย กล่าวว่า ขอตัดสินใจก่อน จะใช้แนวทางไหนดี แต่ยืนยันชัดเจนว่า “ผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น”
14. มีรายงานว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอตั้งงบ 111 ล้านบาท เพื่อใช้ต่อสู้คดีเหมืองแร่ทองคำกับบริษัท คิงส์เกต จนนำมาสู่ข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่า เหตุใดรัฐบาลจึงเอางบประมาณแผ่นดินและภาษีประชาชน ไปใช้ต่อสู้คดี ในเมื่อคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ เป็นเรื่องที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำเนินการไปด้วยความผิดพลาดหุนหันพลันแล่น
ทั้งยังมีการตรวจสอบย้อนหลังพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินในการต่อสู้คดีเหมืองแร่ทองคำยิ่งเขตนี้ไปแล้วกว่า 389 ล้านบาท ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ใช้ ม.44 ปิดสัมปทานเหมืองแรดั่งที่เข้าใจกัน แต่เป็นเพียงการออกคำสั่งเพื่อยุติการทำเหมืองชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอ พ.ร.บ .การเหมืองแร่ฉบับใหม่ ซึ่งหลังจากพระราชบัญญัติเหมืองแร่ฉบับใหม่ออกมา บริษัทเอกชนหลับไม่มาขอสัมปทานเอง
15. บทสรุปของมหากาพย์ "ค่าโง่เหมืองทองคำ" ยังคงต้องรอผลตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่คาดว่า จะมีคำชี้ขาดในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ซึ่งหากที่ขาดให้รัฐบาลไทย ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่บริษัท คิงส์เกตฯ จริง เชื่อแน่ว่า ประเด็นค่าโง่ 300 ล้านดังกล่าว จะกลายเป็นเผือกร้อนที่เขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ที่เป็นผู้ออกคำสั่งปิดเหมืองดังกล่าวแน่