เม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท ที่มีอยู่ใน...กองทุนประกันสังคม ภายใต้การบริหารจัดการของ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่างเย้ายวน...เชิญชวนให้ “ผู้มีอำนาจรัฐ” พยายามแตะต้อง...หวังจะได้สัมผันอย่างใกล้ชิดมากที่สุด!
แม้บางส่วนของเม็ดเงินก้อนนี้ มาจากรัฐบาล ที่กฎหมายขีดเส้นให้ต้องร่วมอุดหนุนไปพร้อมกับ...นายจ้างและผู้ประกันตน (ลูกจ้าง/พนักงาน) แต่เงินก้อนนี้ ก็มีไว้เพื่อการลงทุนสร้างรายได้ในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง ชนิดไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ในอัตราสูงถึง 82% เพราะเป้าหมายสำคัญของกองทุนประกันสังคม นั่นคือ...
ต้องดูแลค่าใช้จ่ายในทุกกรณีแก่...ลูกจ้าง/พนักงาน ซึ่งเป็น “ผู้ประกันตน” ที่มีมากกว่า 16.4 ล้านคนในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์ของ “ผู้ประกันตน” ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การจะสร้างความเสี่ยงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเปิดช่องให้ “ฝ่ายการเมือง” หรือ “ผู้มีอำนาจรัฐ” เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ใดๆ ย่อมทำไม่ได้โดยเด็ดขาด
เงินทุกบาททุกสตางค์ที่อยู่ในกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นของและมีไว้เพื่อ “ผู้ประกันตน” เท่านั้น
ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ระบุชัด! มีเงินลงทุนอยู่ในกองทุนประกันสังคม จำนวน 2,114,775 ล้านบาท จำนวนนี้ แบ่งเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,688,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของเงินลงทุน ที่เหลือ 20% เปิดช่องให้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 426,329 ล้านบาท
โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 675,782 ล้านบาท
แม้ช่วงต้นปี โลกและประเทศไทย ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทว่า...ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ก็สูงกว่าช่วงไตรมาสแรกของปีเดียวกัน นั่นอาจเป็นเพราะ...ปลายๆ ช่วงไตรมาส 2 นั้น สถานการณ์ไวรัสโควิดฯ เริ่มคลี่คลาย
ประกอบกับรัฐบาลอัดงบประมาณลงมาเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดฯ ทั้งกลุ่มลูกจ้าง/พนักงาน และประกอบการ/นายจ้าง ผ่านมาตรการทางการเงิน ส่วนที่เป็น...เงินกู้ซอฟท์โลน เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อคง และ/หรือ ขยายการลงทุน (ถ้าทำได้) รวมถึงการยืดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย แม้กระทั่ง ใช้มาตรการภาษีเพื่อเยียวยานายจ้าง
ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และแม้ภาครัฐจะเสียหายในช่วงต้นของมาตรการ แต่ระยะยาว...เมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ภาครัฐก็จะมีรายได้คืนกลับมาในรูปของภาษี นั่นเอง
โดยไตรมาส 2/2563 กองทุนประกันสังคม มีรายได้จากการลงทุน 24,058 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรก มีรายได้จากการลงทุนไม่ถึง 10,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตได้ทีเดียว
ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนที่ไร้ความเสี่ยงสูงถึง 82% และแม้จะได้อัตราผลตอบต่อการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่เพราะมีเม็ดเงินลงทุนที่สูงมาก ดังนั้น เมื่อทอนกลับเป็นเม็ดเงินจากการลงทุน ที่ได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ถือว่า...มากเพียงพอจะนำไปใช้จ่ายตามภารกิจของกองทุนประกันสังคม
ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะคำพูดจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เผลอพูดในประเด็น รัฐบาลจะเอาเงินจากกองทุนประกันสังคม ออกมาใช้จ่าย กระทั่งถูกโจมตีจากทุกภาคส่วน จนต้องถอนเรื่องออกไป
ทว่า ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็น...รมว.แรงงานฯ สดๆ ร้อนๆ อย่าง...นายสุชาติ ชมกลิ่น ที่เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ถึง “ของเล่นใหม่” โดยมีเงินกองทุนประกันสังคมเป็นแหล่งเงินสำคัญ นั่นคือ...แนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อเปิดช่องให้มีการเอาเงินกองทุนประกันสังคม ออกไปใช้เพื่อการ...
ปล่อยเงินกู้ และค้ำประกันสินเชื่อ
นายสุชาติ บอกว่า...ก่อนหน้านี้ ตนได้มีการนัดหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อปรึกษาถึงแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากธนาคารออมสิน มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควบคุมหนี้ ด้วยเกรงว่าหากปล่อยไปแล้วเป็นหนี้เสีย (NPL) ก็จะมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ก็ไม่เปิดช่องให้กู้เงินหรือค้ำประกัน เพราะวัตถุประสงค์ในการตั้งกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นการรักษาเจ็บป่วย คลอดบุตร เสียชีวิต และเป็นบำนาญชราภาพตอนอายุ 55 ปี จะได้รับที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญทุกเดือน
เหมือนจะรู้ แต่ รมว.แรงงานฯ คนนี้ ยังจะแถต่อไป...
“สิ่งที่จะทำได้วันนี้ คือ การไปศึกษากฎหมาย เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้เปิดช่องกู้เงิน ค้ำประกันสินเชื่อ แต่ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องของกฎหมายประกันสังคมที่มีมายาวนาน ผมเพิ่งมาทำงานได้ไม่นาน ก็มาทำเรื่องนี้ ทำเพื่อผู้ประกันตนทุกคน การจะทำอะไรก็ต้องสอบถามความเห็นของข้าราชการและประธานสหภาพแรงงาน เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในจุดที่ลงตัว และถูกต้องตามกฎหมาย และจะแจ้งความคืบหน้าให้ได้ทราบเป็นระยะ” นายสุชาติ ย้ำและว่า
"ขอให้ทุกคนใจเย็น และอดทน ทั้งนี้ผมจะมุ่งมั่นหาแนวทางและผลักดันจนสุดความสามารถ เท่าที่กำลังของผมจะทำได้ ขอให้เชื่อมั่น เชื่อใจ ขณะนี้ผมได้มีการตั้งทีมงานเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน”
นอกจากนี้ ในส่วนของนายจ้าง/เจ้าของกิจการนั้น ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว โดยให้กู้จากธนาคารที่ร่วมโครงการฯ โดยแนวคิดใหม่ คือ หากนายจ้าง/เจ้าของกิจการ สามารถจะยื่นของกู้เงินได้ 5 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม จะมีเงินไปค้ำประกันให้ 5 ล้านบาทเต็มจำนวน โดยได้เตรียมเม็ดเงินเพื่อการนี้เอาไว้ถึง 3 หมื่นล้านบาท และขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 63 กิจการ สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้กว่า 8 พันคน หรือแค่ 1% ที่แบงก์พาณิชย์ได้เริ่มทยอยปล่อยออกไปช่วยผู้ประกอบการเท่านั้น
ชัดเจนว่า...รมว.แรงงานคนนี้ จ้องจะแก้ไขกฎหมาย เปิดช่องให้มีการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้หรือไม่? แม้จะอ้างว่า...เพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับลูกจ้าง/พนักงาน ซึ่งเป็น “ผู้ประกันตน” และบางส่วนให้กับนายจ้าง/เจ้าของกิจการ ก็ตาม
แต่ไม่มีเหตุผลใด ที่สังคมจะพอรับฟังและยอมรับได้ หากต้องนำเงินที่ควรจะถูกใช้เพื่อดูแลสมาชิกผู้ประกันตนกว่า 16.4 ล้านคน ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น
และไม่แน่ว่า...เมื่อแก้ไขกฎหมายในประเด็นเหล่านี้แล้ว ฝ่ายการเมืองจะไม่รุกต่อ! เพื่อสร้างเงื่อนไขอื่นๆ จนกลายเป็นภาวะความเสี่ยงให้กับเม็ดเงินกว่า 2.1 ล้านล้านบาท
เราเตือนคุณแล้ว...ถอนความคิดเหล่านี้ออกไปซะ ก่อนจะกลายเป็นประเด็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” กวักมือเรียก “ผู้ประกันตน” มารวมกับกองทัพเด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่มีเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนในสังคมไทย สู่จุดที่ดีและเหมาะสมกว่าการจะปล่อยให้ใครมาตักตวงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มาเป็นของส่วนตัวและเครือข่ายพวกพ้อง
จะยังคิด “เรียกแขก” ก็ตามใจ!