เห็นกรมธุรกิจพลังงาน กำลังตีปี๊บเร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกของน้ำมันดีเซลทั้งระบบเสียใหม่ หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่องการกำหนดลักษณะ และคุณภาพของน้ำมันดีเซล ปี 2563 ที่ประกาศตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมศกนี้
โดยกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ..
1) ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา คือน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10
2) ดีเซลหมุนเร็ว บี 7 คือดีเซลหมุนเร็วที่ผสมไบโอดีเซล ในสัดส่วนร้อยละ 7 โดยปริมาตร
และ 3) ดีเซลหมุนเร็ว บี20 คือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ผสมไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยปริมาตร
แต่กว่าที่กรมพัฒนาธุรกิจพลังงานจะเร่งออกมาตีปี๊บถึงการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันดีเซลทั้งระบบดังกล่าวได้ ก็ปาเข้าไปเดือนสิงหาคม-กันยายน เข้าไปแล้ว ทำให้มีระยะเวลาในการเร่งประชาสัมพันธ์ไม่ถึง 2เดือนดี
การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกของน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้น “โบแดง” ที่ทำให้ผู้คนรู้จักกรมพัฒนาธุรกิจพลังงานกัน จากที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่า กรมฯ นี้มีภารกิจอะไรบ้าง?
ทีนี้ก็คงรู้เสียทีว่า ทำหน้าที่ สรรหาและปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันดีเซลให้เป็นมาตรฐาน แต่จะเป็นมาตรฐานของประเทศไทยเพียงประเทศเดียวหรือมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกเรื่อง!
แต่ที่แน่ ๆ การดำเนินการครั้งนี้ของกรมพัฒนาธุรกิจพลังงานนั้น ได้รับการ “อวย” จากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน กันถ้วนหน้า ประเภท “....คุณว่างนักหรือไร ไม่มีงานจะทำแล้วหรือไง ถึง(ได้)หาทำ....”
เพราะตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ จนแก่จะเข้าโลงวันไหนก็ไม่รู้ เราก็รู้จักกับคำว่าดีเซลกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกแล้ว รู้ว่าน้ำมันดีเซลนั้น ใช้สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล บรรดารถปิกอัพ รถอีแต๋น รถที่ใช้ทางการเกษตรทั้งหลายเป็นหลัก แต่ระยะหลังก็มีรถหรูจากยุโรปตบเท้ากันหันมาผลิตเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซลวิ่งกันให้เกลื่อนเมืองด้วย
ต่อมาเมื่อรัฐบาล เมื่อกระทรวงพลังงานพัฒนาดีเซลคุณภาพ เกรดพรีเมี่ยมต่างๆ ขึ้นมา โดยนำเอาไบโอดีเซลเข้ามาเป็นส่วนผสม ก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามมาอย่าง ดีเซล B10 และ B20 ส่วนฟากน้ำมันเบนซิน ก็มีแก๊ซโซฮอลล์ระดับต่าง ๆ ไปจนถึง E20, E85 อะไรก็ว่าไป
แต่ไม่ว่าจะเรียก B10, B20 หรือที่จะมีตามมายังไง ผู้คนเขาก็รับรู้เป็นการทั่วไปแล้วว่า หากเป็นน้ำมันดีเซลแล้ว ก็มีดีเซลธรรมดาเป็นมาตรฐานเพราะเรียกชื่อนี้กันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เป็นแฟนกับคุณย่า.....
และหากเป็นดีเซลเกรดพรีเมี่ยม หรือที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลเข้ามาที่ใช้สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ แล้ว ก็จะมีชื่อเรียก ดีเซล B10 B20 อะไรก็ว่ากันไป แต่ผู้คนจะไม่มีการสับสน เพราะรู้กันดีว่าหากเป็นรถยนต์รุ่นเก่าแล้ว บางรุ่นจะไม่สามารถรองรับได้
แต่พอกรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนชื่อเรียกดีเซลทั้งระบบกันเสียใหม่ ต่อไปนี้ น้ำมันดีเซล ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอโยธยา หรือจะกรุงรัตนโกสินทร์อะไรนั้น จะไม่เรียกว่าดีเซลแล้วนะ แต่จะเรียกว่า “ดีเซล B7” ซึ่งก็ไม่รู้ว่า มันไปเกี่ยวกับเลข 7 ตรงไหน เกี่ยวกันอย่างไร ทำไมถึงต้องเป็น B7 ทำไมไม่เป็น B5 B6 B8 B9 ก็ไม่รู้..
ขณะที่น้ำมันดีเซล B10 เดิมที่ประชาชนคนไทยฝังชิพรับรู้กันไปแล้ว ก็ถูกขนานนามเสียใหม่ว่า “ดีเซลธรรมดา” หรือดีเซลมาตรฐาน (ทั้งที่โดยสภาพของมันแล้ว มันธรรมดาซะดีไหน) ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันมาตรฐานของประเทศไทย หรือเป็นไปตามมาตรฐานโลกอีกเหมือนกัน ส่วนดีเซล B20 เดิม ก็ยังคงใช้ชื่อ “ดีเซลหมุนเร็ว B20” อยู่ต่อไป
อ้าว ! เป็นงงล่ะสิครับ พี่น้องเอ๋ย ทีอย่างนี้กลับให้เรียกชื่อเดิมได้ แต่กับดีเซล B10 ที่ควรจะเรียกเป็นมาตรฐานเดียวกับ B20 ท่านกลับอุตริบอกว่า ไม่ใช่นะต้องเรียกดีเซลธรรมดา ทั้ง ๆ ที่กำหนดให้มีส่วนผสมไบโอดีเซลไปตั้ง 10%
ขอโทษ! ประชาชนคนไทยจะไม่ประสาทแดกได้อย่างไง ต่อให้ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เรียกชื่อไม่ถูกหรอกว่า หากเป็นดีเซลธรรมดา กับดีเซล B7 มันต่างกันอย่างไร ? อย่างไหนคือดีเซลธรรมดา อย่างไหนคือดีเซลที่มาส่วนผสมไบโอดีเซล 7 % หรือ 10 %
สำหรับประชาชนคนไทยแล้ว ผู้คนเขาไม่อิงนังขังขอบหรอกว่า ไส้ในของน้ำมันดีเซลแต่ละชนิดนั้นจะเป็นอย่างไร แต่โดยความเข้าใจพื้นฐานแล้ว ดีเซลธรรมดา มันก็ควรจะมีฐานที่ต่ำที่สุด หากจะผสมอะไรเข้าไป มันจะต้องเป็นเกรดระดับพรีเมี่ยมหรือพิเศษขึ้นมาหน่อย
ดังนั้น ไอ้ดีเซล 7 นั่นแหล่ะ ที่ควรจะได้ชื่อว่า “ดีเซลธรรมดา” จะผสมไบโอดีเซลลงไป หรือไม่ผสมอย่างไรก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญแม้แต่น้อย ส่วนที่ผสมไบโอดีเซลเกินไปจากนี้ เป็น 10% หรือ 20% ค่อยขยับขึ้นมาเรียกดีเซล B10 B20 อย่างนี้ ต่อให้แก่หงำเหงือกอย่างไรก็ไม่มีทางสับสน
แต่พอกรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน ดันไปกลับหัวกลับท้าย เอาตรงกลางมาตั้งชื่อเป็นของธรรมดา ไอ้ที่เป็นของธรรมดาให้ชื่อใหม่เป็น B7 ไปซะงั้น ส่วน 20 กลับยังคงชื่อเรียกไว้ดังเดิมแบบนี้ มันจึงทำให้ผู้คนเขาเกิดความสับสน เพราะทั้งชีวิตถูกฝังชิพจดจำกันมาทั้งชีวิตไปแล้ว
ความสับสนอลหม่านคงได้เกิดตามมาแบบสุดบรรลัยเกิดก็งานนี้ เพราะระยะเวลาแค่ขวบเดือนนี้ จะมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนไทยจดจำเป็น “มายแม็พ” มาตลอดชีวิต
เมื่อถึงคราใช้จริง คงได้เกิดความโกลาหลทั่วบ้านทั่วเมืองแน่ เพราะผู้คนโดยทั่วไปที่ใช้รถรุ่นเก่า หรือรถที่ใช้เพื่อการเกษตรทั้งหลายที่เข้าไปในปั๊ม เมื่อบอกให้เด็กเติมดีเซล (อันหมายถึงดีเซลธรรมดาจริงๆ) หากเด็กปั๊มพาลซื่อไปเต็ม B10 เข้าไป ก็มีหวังได้งานเข้า
หากเด็กปั๊มมีไหวพริบหน่อยรีบแจ้งเจ้าของรถเสียก่อนว่า ดีเซลธรรมดาตอนนี้ คือ B10 เดิมนะเฮีย ก็อาจพอทำเนา เพราะหากเป็นรถรุ่นเก่าที่ใช้ไม่ได้ เจ้าของรถยังเปลี่ยนได้ทัน
แต่สุดท้ายก็อาจต้องมานั่งถกเถียงกันอีกว่า ดีเซลธรรมดานั้น มันควรเป็นดีเซลฐาน ที่จะเติมไบโอดีเซล 7% หรือไม่เติมเลยน่าจะถูกต้องกว่าไหม เพราะมันคือดีเซลธรรมดา พื้นฐานต่ำสุดแล้ว แต่ดันไปเรียก B7
ก็ไม่รู้เป็นไอเดียสุดบรรเจิดนี้เป็นของใครกัน แต่บอกได้คำเดียวว่า งานนี้ ไม่เพียงแต่จะเรียกแขกให้งานเข้า แต่มันยังบอกให้รู้ว่า หน่วยงานนี้คงไม่มีอะไรทำหรือไม่ ถึงได้หาทำเรื่องที่มัน “เจี๊ยะป้าบ่สื่อ” ขนานแท้ ก็สมควรอยู่หรอกที่ ฯพณฯ ท่านนายกฯ บิ๊กตู่ จะได้ตบรางวัลงามๆ ให้สักที!