น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โดย ป.ป.ช.เสนอแนะให้ ครม. พิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยให้ใช้กรณีการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วในซอยพหลโยธิน 8 หรือซอยสายลม เขตพญาไท มาเป็นต้นแบบดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการข้อมูลและจัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งในส่วนของธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ได้ละเมิดการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพาดสายหรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ทั้งการลักพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต การพาดสายสื่อสารไม่มีการรวบสายให้เป็นระเบียบ ไม่มีการคัดแยกสายที่พาดโดยไม่ได้รับอนุญาตออกจากสายที่ได้รับอนุญาต การใช้สายที่ไม่มีแถบสีตามที่กำหนด การนำสายสื่อสารสำรองที่เหลือใช้ม้วนเป็นวงกลมแขวนทิ้งไว้บนเสาไฟฟ้า การปล่อยทิ้งสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้วที่เป็นสายชำรุดเสื่อมสภาพหรือลูกค้ายกเลิกใช้บริการปะปนกับสายที่ใช้งาน โดยไม่รื้อถอนทั้งนี้ เลขาธิการ กสทช. ได้เคยชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ต่อกรณีดังกล่าวว่า ปัญหาสายสื่อสารที่พาดบนเสาไฟฟ้ามีปริมาณมาก และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จนส่งผลต่อทัศนียภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น มากกว่าร้อยละ 50 เป็นสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ซึ่งมีทั้งสายโทรศัพท์บ้าน และสายเคเบิลทีวี ที่พาดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งการจัดระเบียบประชาชนอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องรื้อสายลงมาทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องประสานการปฏิบัติงานและกำกับดูแลงานร่วมกัน