“ฐากร จัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการ กสทช. แนะรัฐเร่งสร้างแพลตฟอร์ม OTT ของไทย รองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เผยเหตุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการประชารัฐยังไม่สามารถปลุกกำลังซื้อรากหญ้าได้เต็มที่ เหตุถูกแพลตฟอร์มต่างประเทศดูดเม็ดเงินออกไปจากระบบ
จากกรณีที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล โดยคาดว่าแรงส่งของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้ระดับหนึ่ง และทำให้ยอดค้าปลีกในภาพรวมปี 2563 หดตัวลดลงเหลือร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.2
โดยจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นโอกาสให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมถึงร้านค้าและร้านอาหารที่เช่าพื้นที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) รวมถึง E-market place และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่น่าจะมีโอกาสเพิ่มยอดขายมากขึ้น โดยสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคน่าจะซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แก่ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร อุปกรณ์ไอที เช่น Smart phone, Smart watch และของใช้จำเป็นส่วนบุคคล
ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมาแห่งชาติ (กสทช.) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนั้นต่างขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล AI-5G เป็นหลัก ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจรองรับหาไม่แล้วจะเกิดความล้าหลัง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ บรรดาโครงการประชารัฐและ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐต่างๆ อาทิการจ่ายเงินสวัสดิการ หรือเงินช่วยยังชีพเข้าระบบ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบนั้น หากเป็นภาวะปกติเม็ดเงินเหล่านี้ควรจะหมุนไป 4-5 รอบ เช่นหากจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไป 5,000 บาท ก็ควรจะหมุนไปถึง 25,000 บาท
แต่เพราะเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเป็นหลัก จึงทำให้เม็ดเงินที่ใส่ลงไปไม่ได้หมุนเวียนไปตามปกติ แต่ถูกดูดออกไปยังตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ อย่าง shopee Agoda Alibaba และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ จึงทำให้เม็ดเงินที่ควรจะหมุนไปตามกลไกตลาดถูกดูดออกไปจากแทบจะไม่หมุนเวียนในประเทศ หรือได้กลับมาเพียงส่วนน้อยแค่ 30% เท่านั้น จึงทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
“เพราะบริการ OTT บนโครงข่ายดิจิทัลของไทยยังมีความล้าหลัง ยังไม่สามารถพัฒนาให้รองรับการเติบโตทางทางเศรษฐกิจแห่งโลกยุคใหม่ได้ แม้ประเทศไทยจะสามารถเปิดให้บริการ 5จี ในเชิงพาณิชย์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ได้ แต่ด้านการพัฒนาบริการ OTT โดยเฉพาะการสร้างแพลตฟอร์ม OTT ของไทย เพื่อรองรับธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ยังตามไม่ทัน และยังขาดเจ้าภาพดำเนินการที่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างบริการ OTT บนแพลตฟอร์มของเราเองขึ้นมาเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ให้ได้ก่อนที่ไทยจะเสียโอกาส”