เวทีประชาพิจารณ์ของกรมการขนส่งทางบก ถกแรง! แต่เสียงส่วนใหญ่หนุน “เรียกรถผ่านแอปฯ” ด้านนักวิชาการ มธ. แนะตัดทิ้งข้อ 3. ของร่างกฎกระทรวงฯ หวั่นขัดหลักการยุคดิจิทัล
ลุ้นระทึก! สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ที่ กรมการขนส่งทางบก เปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ) ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 1 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 ธันวาคม 2563
เพราะยังเป็นแค่…ร่างกฎกระทรวงฯ จึงมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นซีกของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ หรือกลุ่มรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือก ต่างก็เสนอแนะในสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก!
แต่ในความต่าง ยังมีความเหมือนร่วมกัน นั่นคือ ทุกฝ่าย…ต่างยอมรับในความมีตัวตนของการให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชั่น และเห็นว่าสิ่งนี้จะก่อประโยชน์มหาศาลต่อระบบการขนส่งส่วนบุคคลทั้งในวันนี้และอนาคต
นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดี (ฝ่ายบริหาร) ในฐานะประธานการประชุมฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมฯได้เปิดเวทีสาธารณะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางออนไลน์มาก่อนแล้ว แต่เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นที่รอบด้านจึงได้เปิดเวทีนี้ขึ้นมา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณานำไปสู่การออกกฎกระทรวงในโอกาสต่อไป
“ข้อเสนอแนะทั้งหมดที่มีนั้น กรมการขนส่งทางบกจะนำไปพิจารณาประกอบกับข้อเสนอแนะผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนหน้านี้ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายนั้น กรมการขนส่งทางบกจะส่งให้ทางสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาอย่างรอบด้านอีกชั้นหนึ่ง” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก สรุป
ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัย CONC Thammasat ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ) จัดทำโดยกระทรวงคมนาคม ว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเพื่อให้บริการรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันและเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่อาจสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงาน โดยเฉพาะ ข้อ 3 ที่ระบุว่า “การรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก จะจดทะเบียนในจังหวัดใด จำนวนเท่าใด ให้เป็นไปที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” เพราะเหมือนเป็นการจำกัดโควตา ทำให้กฎกระทรวงฯ ที่ออกมากลายเป็นความล้าหลัง ทั้งที่เทคโนโลยีดิจิทัลวันนี้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งจำนวนผู้ให้บริการฯและจำนวนเที่ยวในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือกส่วนใหญ่มักทำเป็นอาชีพเสริม ที่ต้องการความยืดหยุ่น ไม่ต้องการการผูกมัด ทั้งเรื่องเวลาการทำงานและรายได้ ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบกตัดทิ้งข้อ 3 ออกไป
ด้านนายมารุต จันทะลือ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ภาครัฐควรเปิดเสรีให้กับคนขับที่ให้บริการรถส่วนบุคคล เหมือนที่ไม่กำหนดโควต้ากับธุรกิจอย่างแท็กซี่ เพื่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงปากท้องได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
“การหันมาขับรถรับจ้างส่วนบุคคลแบบนี้ ทำให้พวกเรามีรายได้จุนเจือครอบครัว ถือเป็นทางออกในยุคโควิดฯที่ทำให้ไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาล ทางกลุ่มเครือข่ายฯ จึงขอเป็นตัวแทนของคนไทยอีกหลายๆ คนที่อาจจะไม่มีโอกาสออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว และขอความเห็นใจจากภาครัฐในการพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เพื่อประคับประคองช่วยเหลือคนไทยในภาวะวิกฤตแบบนี้” นายมารุต กล่าว
ส่วน นายมารุต จันทะลือ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวเสริมว่า ภาครัฐควรเปิดเสรีให้กับคนขับที่ให้บริการรถส่วนบุคคล เหมือนที่ไม่กำหนดโควต้ากับธุรกิจอย่างแท็กซี่ เพื่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงปากท้องได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
“การหันมาขับรถรับจ้างส่วนบุคคลแบบนี้ ทำให้พวกเรามีรายได้จุนเจือครอบครัว ถือเป็นทางออกในยุคโควิดฯที่ทำให้ไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาล ทางกลุ่มเครือข่ายฯ จึงขอเป็นตัวแทนของคนไทยอีกหลายๆ คนที่อาจจะไม่มีโอกาสออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว และขอความเห็นใจจากภาครัฐในการพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เพื่อประคับประคองช่วยเหลือคนไทยในภาวะวิกฤตแบบนี้” นายมารุต กล่าว
ขณะที่ตัวแทนจากสหกรณ์และสมาคมแท็กซี่ รวมถึง นายฉัตรชัย ภู่อารีย์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมายมหาชน กล่าวแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันตอนหนึ่งว่า พวกเขาไม่ปฏิเสธการนำแอปพลิเคชั่นมาใช้กับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร แต่ไม่ควรใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคล ควรใช้เฉพาะรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) เท่านั้น
ปิดท้ายที่ ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแกร็บ รู้สึกยินดีที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้อง เปิดโอกาสสร้างรายได้ อีกทั้งยังสร้างทางเลือกแก่ประชาชนอีก อย่างไรก็ตาม ร่างกฎกระทรวงฯนี้ จะต้องก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ปิดกั้นโอกาสในการกระจายรายได้และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
อนึ่ง การจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯครั้งนี้ มีหน่วยงานในสังกัดกรมการขนส่งทางบก รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทางหลวง กสทช. สคบ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาคประชาชนผู้ใช้บริการ กรมการท่องเที่ยว กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่สาธารณะ ฯลฯ เข้าร่วมประชุมฯ รวมกันกว่า 100 คน