"เอไอเอส" ไม่รอแล้วนะ ดอดชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz จากการประมูล 5G พร้อมประกาศความเป็นผู้นำที่มีคลื่นความถี่ครบและมากที่สุด
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ AIS ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) พร้อมผู้บริหาร ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz (733 – 738 / 788 -793 MHz ) งวดที่ 1 จำนวน 1,835,478,000 บาท โดยมี พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากคลื่นความถี่ 700 MHz ที่เอไอเอสได้รับการจัดสรรเมื่อปี 2562 และได้ชำระเงินค่าคลื่นความถี่นี้ไปแล้ว 1 งวด ในการประมูลคลื่น 5G เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เอไอเอส ยังมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการประมูลคลื่น 700 MHz เพิ่มเติม เพื่อนำมาให้บริการ 5G โดยเป็นคลื่น 5G แบบเต็ม Block ตามมาตรฐานเทคโนโลยี 5G ระดับโลก และเพื่อให้คลื่นความถี่ที่เอไอเอสมี ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ
ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz (2×15 MHz), คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 1200 MHz รวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330 MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้เอไอเอสยังคงยืนหยัด ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G,4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ) ที่จะนำมาสร้างประโยชน์ในการฟื้นฟูประเทศ ผ่านการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆและลูกค้าทุกกลุ่ม
ขณะเดียวกัน นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ด้วยราคาการประมูลสูงสุด 34,306 ล้านบาท โดย NT ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ดังกล่าวในงวดที่ 1 คิดเป็นอัตรา 10% ของราคาการประมูลสูงสุด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดที่ 2-10 รวมมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการเข้าร่วมประมูลของ CAT ก่อนการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันจะเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในทุกภาคส่วน
ในส่วนข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัล) ที่รัองขอให้รัฐบาลผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี เพื่อขอขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 5จี ที่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชนประมูลได้ไปเมื่อต้นปี 2563 เพราะต่างได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วเห็นว่า คงไม่สามารถขยายเวลาให้ได้ เพราะในเงื่อนไขประมูล 5จี ของ กสทช.ได้ขยายเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมประมูลใบอนุญาตให้ถึง 10 ปีอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับ และเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว