ชาร์จ แมเนจเม้นต์ ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เปิดตัวเลขตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถ EV อีกหนึ่งธุรกิจแข่งขันสูง คาดเม็ดเงินสะพัดภายในแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท เผยแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับรถ EV มอง 3 ปัจจัยหลัก หนุนตลาดอุปกรรณ์ชาร์จเติบโต จาก 1. นโยบายภาครัฐเอาจริงลดคาร์บอนเหลือศูนย์และดันไทยเป็นฐานผลิตรถ EV 2. ค่ายรถจับตลาดรถเล็กราคาประหยัดหนุนคนเข้าถึงรถ EV ง่ายขึ้น และ 3. เทคโนโลยีค่ายรถเปิดตัวรถรุ่นใหม่ใช้เวลาชาร์จเร็วขึ้นแต่ไปได้ไกลกว่า จับตาจังหวะสำคัญอานิสงส์ตลาด EV Charging ทั้งสถานีชาร์จและแบบชาร์จตามบ้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลของ SHARGE พบว่าปัจจุบันตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(EV Charging) เป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจไม่ต่างจากตลาดของรถ EV เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้ใช้รถ EV เกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV มากขึ้น ปัจจุบันตลาด EV Charging ในประเทศไทยมีประมาณ 2,100 หัวชาร์จ ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างหันมาจับตลาด EV Charging จึงทำให้ให้คาดว่าภายใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นไปแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนให้การเติบโตของตลาด EV Charging ในประเทศไทย ให้เป็นไปตามโรดแมปของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้นั้น SHARGE วิเคราะห์ว่า มาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. จากนโยบายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์และรัฐบาลมีแผนแม่บทที่ชัดเจนในการพัฒนารถ EV โดยเฉพาะการตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ปัจจัยนี้จะสนับสนุนให้รถ EV ในประเทศไทยมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายจับมือกับภาคเอกชนในภาคบริการรถขนส่งสาธารณะให้เปลี่ยนมาใช้รถ EV แทนรถขนส่งสาธารณะเดิมที่ปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมาก ซึ่งนโยบายเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานของรถ EV เช่น สถานีชาร์จ และการสนับสนุนไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ใช้รถ EV เข้าถึงพลังงานที่ราคาถูกลง ตลอดจนสนับสนุนให้ตลาด EV Charging ทั้งในรูปแบบสถานีชาร์จและการชาร์จตามบ้านได้รับอานิสงส์โดยตรง
2. ค่ายรถยนต์หันมาผลิตรถ EV ในตลาดรถยนต์ราคาประหยัดที่ราคาจับต้องง่ายมากขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มเห็นราคาจำหน่ายในประเทศไทยในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในหลายรุ่น โดยเฉพาะรถยนต์นำเข้าจากประเทศจีนที่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทำให้ผู้ใช้รถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ปัจจัยนี้มองว่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของ ตลาด EV Charging ในรูปแบบการชาร์จตามบ้านมากที่สุด เนื่องจากผู้ใช้รถขนาดเล็กในราคาประหยัดนั้นจะเน้นการชาร์จตามบ้านที่มีต้นทุนพลังงานถูกกว่า
3. นวัตกรรมการชาร์จที่รวดเร็วขึ้นแต่วิ่งได้ไกลขึ้น จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีของค่ายรถที่ผลิตรถ EV รุ่นใหม่ให้ชาร์จเร็วได้ภายในระยะเวลาสั้นลงและขับไปได้ไกลขึ้น การพัฒนานี้จะตอบสนองให้ผู้ใช้รถ EV มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมที่จะขับในระยะทางใกล้ๆ เปลี่ยนเป็นการขับได้ไกลขึ้นและเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยรถ EV มากขึ้น จากการพัฒนานี้จะสนับสนุนการเปิดสถานีบริการชาร์จเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
“SHARGE มองว่า ในอนาคตจะเกิดการแข่งขันที่สูงในตลาด EV Charging ตามการคาดการณ์ว่าตลาดรถ EV จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และความต้องการเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องชาร์จในราคายุติธรรม ทั้งนี้ราคาของอุปกรณ์การชาร์จรถ EV ถือว่าปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกับราคาของรถ EV โดยในช่วงที่นำเข้าแรกๆ ราคาจะอยู่ในหลักแสนบาทขึ้นไป แต่ในปัจจุบันราคาได้ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก เริ่มต้นที่ 40,000 บาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี” นายพีระภัทร กล่าว