กลยุทธ์ประกันภาคพิศดาร!
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทบาทของ "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย" หรือ คปภ. ในยุคของ “ดร.ไก่-สุทธิพล ทวีชัยการ" เลขาธิการฯ คนปัจจุบันนั้น
ถือได้ว่าได้สร้างมี “ผลงานเข้าตา” กรรมการมากมายในอุตสาหกรรมการประกันภัยของเมืองไทย และจัดเป็นผู้มากด้วย "คอนเน็กชั่น" ระดับแถวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยเลยก็ว่าได้
เพราะอดีตท่านเลขาฯ มีดีกรีเคยเป็นถึง "ผู้พิพากษา" ทั้งในซีกของศาลแพ่งและศาลฎีกา ก่อนจะข้ามห้วยไปเป็นใหญ่ในสาย “กึ่งการเมือง” ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (พ.ย. 49 - ก.ย. 54) ในตำแหน่งเลขาธิการฯ
พอผู้คนจดจำกันได้ก็หลบฉากการเมือง ไปเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการตรวจแผ่นดินอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงค้ำถ่อข้ามฟากไปนั่งเก้าอี้…เลขาธิการ คปภ. ช่วงปลายปี 58 สร้างผลงานโดดเด่น จนครบสมัยแรก 4 ปี
และก็เป็น ครม."ลุงตู่" ที่เพิ่งไฟเขียวต่อวีซ่าสมัยที่ 2 ให้ทั่นเลขา คปภ. ผู้นี้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ต่อไปอีก 4 ปี (ต.ค.62 - ก.ย.66)
ว่ากันยาวๆ ไปถึง 8 ปีเต็ม…กับเก้าอี้ เลขาธิการ คปภ.ตัวนี้กันเลย
จะว่าไปถนนสาย เลขาธิการ คปภ.ของ “ดร.ไก่” น้ัน ผ่านมาครึ่งค่อนทางเข้าไปแล้ว เหลืออีกเพียง 2 ปีนับจากนี้ ก็จะสิ้นสุดบทบาท ดังนั้นในห้วงเวลาที่เหลือ จึงเป็นอะไรที่เขาจะต้องเร่งสร้างผลงานให้เข้าตาใครบางคน?
เพราะโปรไฟล์ระดับนี้คงไม่ได้หวังแค่จะ "ทิ้งชื่อ" จารึกไว้ที่ตำแหน่งเลขา คปภ.แน่!
ตรงกันข้ามหากเกิดการเปลี่ยนทางการเมือง หรือมีรัฐบาลพิเศษขึ้นมาเมื่อใด? เก้าอี้เสนาบดีบางกระทรวงก็ไม่แน่ว่าอาจจะส้มหล่นมาถึงเขาเอาได้ทุกเมื่อ
เพราะเท่าที่เลียบเคียงไถ่ถามคนที่รู้จักมักจี่กับ “ดร.ไก่” คนนี้ ต่างก็ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า "ดร.ไก่" ใช่จะไก่กา แต่มีดีมากกว่าจะให้นั่ง "จมปลัก" อยู่กับเก้าอี้เลขาธิการ คปภ. หรือเลขาธิการ กกต.
เก้าอี้ รมว.ยุติธรรม ต่างหากถึงจะมีความเหมาะสมลงตัว!
ทว่า สัจธรรม "ความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น" ดั่งที่ครูปรีชาท่านว่าไว้ ความเป็นไปของโลกใบนี้ มักมี 2 ด้านเสมอ มี "บวกก็มีลบ" มีสว่างก็ย่อมมีความมืดมิด
ในท่ามกลางผลงานในแวดวงประกันภัยที่มีมากมาย ก็มีเสียงติฉินนินทาและข้อครหาตามมามากมายอีกเช่นกัน
โดยเฉพาะกับข้อกังขา ใครคุมใครกันแน่? ระหว่าง เลขาธิการ คปภ. กับเจ้าของ/ผู้บริหารธุรกิจประกันภัย?!!!!
เพราะในเสียงชื่นชมที่พรั่งพรูกันออกมา กับผลงานการสั่งการ คุมเข้ม ผ่านกฎระเบียบมากมายที่ออกมานั้น..
มีการตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุใดส่วนใหญ่ จึงล้วนออกมาจากคนในกลุ่มอุตสาหกรรมการประกันภัยและผู้ได้รับประโยชน์จากธุรกิจประกันภัย แต่หาได้มาจากฝั่งของประชาชนคนเอาประกันสักเท่าใด
สอดรับกับรายได้และผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยที่เติบและเพิ่มพูนในทุกๆ ปี ไม่เว้นแม้แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนยังคงต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 โดยไม่รู้จุดสิ้นสุดของปัญหาระดับโลกนี้จะยืดยาวไปไกลและนานแค่ไหน
กลายเป็นว่า เบี้ยประกันภัยโควิดฯ กลับเติบโตมหาศาล ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไร?
เพราะคนกลัวตายจากพิษโควิดฯ จึงต้องทำประกันภัยเอาไว้
แต่ที่น่าสนใจ คือ “เงื่อนไขของกรมธรรม์ ที่แต่ละบริษัทประกันภัยผุดกันออกมา เหตุใดจึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนกติกาที่อ้างว่า ก่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้เอาประกันอยู่หลายครั้ง”
เพราะหากเงื่อนไขของกรมธรรม์สร้างประโยชน์ต่อประชาชนตั้งแต่แรกแล้ว สำนักงาน คปภ. โดยอำนาจของนายทะเบียน (เลขาธิการฯ) ก็คงไม่ต้องตามไปแก้ไขอะไรกันให้วุ่นวายตามมา
เพราะก่อนจะได้แก้ไข ประชาชนที่ซื้อประกันภัยก่อนหน้านั้น สูญเสียโอกาสและผลประโยชน์ให้กับบริษัทประกันภัยไปแล้วมากน้อยแค่ไหน? สำนักงาน คปภ. ภายใต้การนำของ เลขาธิการ คปภ. ที่ชื่อ “ดร.ไก่” เคยเอาตัวเลขเหล่านี้มากางและบอกกล่าวกันบ้างไหม?
นั่นคือ…ข้อกังขาที่ผู้คนเฝ้ารอคำตอบจาก “ดร.ไก่”
อีกเรื่องที่ “ต้นทาง” ของโครงการประกันภัยของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่างบ่นอุบเป็นเสียงเดียวกันดังๆ
ด้วยเหตุที่ สำนักงาน คปภ. เอาโครงการประภัยของกระทรวงเกษตรฯ และ ธ.ก.ส. ไปโพทนาผ่านสื่อ โดยยังไม่ได้ถามต้นทางของโครงการประภันภัยก่อนเลยสักนิดหรือไม่?
เพราะบางโครงการประกันภัย รายละเอียดยังไม่ครบถ้วน อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อชี้ชัดถึงรายละเอียดและความเป็นไปของโครงการ
แต่สำนักงาน คปภ. กลับให้ข่าวไปก่อนแล้ว กลายเป็นว่า หน่วยงานต้นทางของสารพัดโครงการประกันภัย ต้องไล่ทำรายละเอียดโครงการ เพื่อให้สอดรับกับข่าวที่ออกมา ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานในสังกัดและ ธ.ก.ส.บ่นอุบมา..
ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป!