ลักหลับร่วมทุนเอกชนผุดโซลาร์ฟาร์มแหก กม.ร่วมลงทุน อ้าง กม.พิเศษอีอีซีเปิดช่อง
กฟภ.กลัวตกขบวนอื้อฉาวเสาไฟกินรี-ประติมากรรม ร่วมทุนเอกชนผุดโครงการโซลาร์ฟาร์มแหกกม.ร่วมลงทุน ยังมีหน้าอ้าง กม.พิเศษอีอีซีเปิดช่อง ทั้งที่ยกเมฆอ้างคนละเรื่อง
วงในอัดขนาดรถไฟความเร็วสูง-พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินยังต้องทำ!
ถึงคิว กฟภ. PEA กลัวตกขบวนอื้อฉาวเสาไฟกินรี-เสาประติมากรรม โดดร่วมทุนกับเอกชนผุดโครงการโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกกะวัตต์ 2.3 หมื่นล้านไม่ผ่าน กม.พีพีพี อ้างดื้อๆ ใช้ กม.พิเศษอีอีซี ทั้งที่คนละเรื่อง เขายกเว้นกรณีมีผลศึกษาจำเป็นไม่มีเทคโนโลยีอื่นให้เลือก แต่โซลาร์ฟาร์มมีขายเกลื่อนทั่วโลก
กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town..
กับเรื่องที่ผู้บริหาร บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) บริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ออกโรงชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงโครงการร่วมทุนกับ “SPCG” ทำโครงการ “โซล่าร์ฟาร์ม” ขนาด 500 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 23,000 ล้านในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 อ้างเป็นการดำเนินโครงการภายใต้ “พ.ร.บ.อีอีซี” จนมีผู้ร้องให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาตรวจสอบ (รายละเอียด https://www.isranews.org/article/isranews-news/99894-EEC-solar-farm-500MW-PEA-ENCOM-SPCG-ombudsman-law-news.html?fbclid=IwAR2QFk6doaye_efC8c3mNbD6wvyjZrXlDyOUwAsoTH-mGF5-xvNE3p23ysQ)
โดย นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม กล่าวชี้แจงว่า การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อีอีซีดังกล่าว ไม่ได้เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แต่เป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการร่วมทุนกับเอกชนในพื้นที่อีอีซีเป็นการเฉพาะ เช่นบทบัญญัติมาตรา 12 เป็นต้น
โดยมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.อีอีซี บัญญัติว่า “เพื่อให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการตามกระบวนการและวิธีการดังกล่าว โดยให้ถือว่าการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนนั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว”
ดังนั้น โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซี ที่ PEA ENCOM จะร่วมดำเนินการกับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG จึงเป็นโครงการที่ภาครัฐเปิดให้ภาคเอกชนร่วมทุนโดยไม่ต้องเปิดประมูลได้ ขณะที่ พ.ร.บ.อีอีซี นั้น มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งภาครัฐมีเป้าหมายให้พื้นที่อีอีซีมีการใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในพื้นที่ “เรื่องนี้ ทาง PEA ENCOM ได้ร่างหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบถามมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะส่งหนังสือชี้แจงไปให้นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ลงนาม ก่อนจัดส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป”
ย้อนรอย..โซลาร์ฟาร์มอีอีซี!
เมื่อตรวจสอบย้อนรอยไปถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ ก็พบว่า “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 เห็นชอบหลักการ โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ EEC และต่อมาวันที่ 22 มิ.ย. 2563 กพอ. มีมติรับทราบความก้าวหน้าโครงการฯ ดังกล่าว ดังนี้
1. ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) โดยมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ผลิตไฟฟ้าและให้ กฟภ. รับซื้อ ส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
2. อัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า คณะกรรมการ กพอ. มีมติหรือเห็นชอบในหลักการที่จะให้ กฟภ. ดำเนินโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนเป็นกรณีพิเศษดังเหตุผลที่ฝ่ายบริหาร พีอีเอ เอ็นคอม กล่าวอ้าง เพราะมติ กพอ.นั้น เพียงเห็นชอบให้ กฟภ. นำเสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่อัจฉริยะ โดยมอบหมายให้บริษัท PEA ENCOM เป็นผู้ดำเนินการ หาได้มีการเห็นชอบในหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการใด ๆ
ดังนั้น หาก กฟภ. และพีอีเอ เอ็นคอม จะเซ็งลี้โครงการนี้ออกไปให้เอกชนร่วมลงทุนหรือดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ก็ต้องดำเนินการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเฉกเช่นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่ากว่า 260,000 ล้านของกองทัพเรือ หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ที่ทุกโครงการล้วนต้องดำเนินการ ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2556 และ 2562 ทั้งสิ้น
คลี่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (พีพีพี)..ไม่มียกเว้น
ในบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติว่า “หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน
(2) รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง
(3) ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ
(4) ท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ
(5) การจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบําบัดน้ำเสีย
(6) การพลังงาน…”
(7)......
ส่วนมาตรา 8 บัญญัติว่า “โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาทขึ้นไป หรือมูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้น โดยกฎกระทรวงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้”
เห็นได้ชัดว่า กิจการด้านพลังงานถือเป็นโครงการที่เข้าข่ายจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.พีพีพี ฉบับนี้ ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งตามรายงานนั้น บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ กฟภ.ถือหุ้น 100% จึงถือเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เมื่อบริษัทประสงค์ที่จะดึงเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท จึงเข้าข่ายว่า จะต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่สามารถจะอ้างได้ว่าอาศัยอำนาจพิเศษตามบทบัญญัติมาตารา 12 ของ พ.ร.บ.อีอีซี ได้
ถือเป็นอีกโครงการอื้อฉาวที่เชื่อว่า จะทำให้ทั้ง บอร์ดและผู้บริหาร กฟภ. รวมทั้งคณะกรรมการ กพอ.ที่เห็นชอบในการดำเนินโครงการต้องพาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช.ยกกระบิตามมาอย่างแน่นอน