วงในเตือน กก.สรรหาตาม กม.ใหม่ หากยังรับใบสั่งพิจารณากันแบบลวกๆ อีกได้เจอ ม.157 ยกกระบิแน่
หลังจากเส้นทางการสรรหา และแต่งตั้ง "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" หรือ "กสทช" ต้องล้มลุกคลุกคลานไปครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคมไปนับทศวรรษ
ขณะที่ กสทช. ชุดปัจจุบัน ที่ต้องอยู่ทำหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจนรากงอกนับทศวรรษนั้น ส่งผลดี ผลเสียต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร การพัฒนากิจการกระจายเสียง ทีวีดิจิทัล และสื่อสารโทรคมนาคม คืบหน้ากันไปถึงไหนอย่างไรนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจดี
การจัดระเบียบสถานีวิทยุ และวิทยุชุมชนที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในช่วงระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดระเบียบทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ตั้งขึ้นตาประกาศ กสทช.ฉบับชั่วคราว แต่กลับต้องอยู่โยงกันยาวพอ ๆ กับ "รัฐบาล คสช." ที่ขอเวลาอกไม่นานก่อนหน้า ได้ทำให้บรรดาวิทยุชุมชนและทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีที่พากันโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอึ่ม เสริมอก ผัวหลง ยาปลุกเซ็กส์ เครื่องรางของขลังกันท่วมจอ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมด ล้วนเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ที่มาจากความล้มเหลวของกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา!
โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา กสทช.ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่ยังคงเต็มไปด้วยความโกลาหล เต็มไปด้วยใบสั่งปลิวว่อนอยู่เช่นเดิม จนทำให้มีการล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ไปถึง 2 ครั้ง 2 คราว ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
โดยครั้งแรกเมื่อกลางปี 2562 ที่ประชุมวุฒิสมาชิกได้โหวตคว่ำรายชื่อ "ว่าที่ กสทช." ทั้ง 14 คน ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและ "คณะกรรมการสรรหา" เสนอขึ้นมา เนื่องจากรายชื่อว่าที่ กสทช.ที่ส่งมาล้วนมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ "ไม่ตรงปก" ก่อนที่หัวหน้า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานั้น จะงัด ม. 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2562 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 62 ระงับกระบวนการสรรหา และให้ กสทช. ที่ทำหน้าที่อยู่ในเวลานั้นทำหน้าที่ต่อไปแทน
ครั้งล่าสุด เมื่อเดือน มี.ค.2564 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ "ล้มกระดาน" กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่อีกคำรบ ด้วยการชิงทำคลอด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2564 ตัดหน้าหลังจากได้เห็นโฉมหน้า 14 ว่าที่ กสทช. ที่ล้วนแล้วแต่ "ไม่ตรงปก" ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ไปโดยปริยาย ทำให้ต้องริเริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่กันยกชุด กันอีกคำรบวันนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ที่ประชุมวุฒิสภาสั่งล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ไปถึง 2 คำรบก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ที่ส่งเข้าประกวด "ไม่ตรงปก" ไม่สอดคล้องคุณสมบัติตามที่กฎหมาย กสทช.กำหนด สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสรรหา กสทช. ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และโดยเฉพาะ "คณะกรรมการสรรหา กสทช." นั้น “มีปัญหา” หรือทำหน้าที่ได้อย่างบกพร่องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!
ก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะหากย้อนรอยไปดูกระบวนการสรรหา กสทช. ทั้ง 2 รอบจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการสรรหามีการดำเนินการอย่างหละหลวม ไม่รัดกุมมาตั้งแต่แรก ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่เต็มไปด้วยความหละหลวมแทบจะเป็นการปล่อยผี โดยไม่สีการพิจารณาตรวจสอบบุคคลใดๆ ทั้งที่ประกาศหลักเกณฑ์สรรหา และพ.ร.บ.กสทช.นั้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเป็น กสทช.อย่างเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว
แต่ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหานั้น ไม่เคยได้ล้วงลูกลงไปตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติ หรือประสานขอข้อมูลต่างๆ ในเชิงลึกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญอาทิ การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือการตรวจสอบการถือครองหุ้นว่าขัดกฎหมายหรือไม่ที่สามารถร้องขอข้อมูลไปยัง กลต. ได้
เช่นเดียวกับการตรวจสอบข้อมูลด้านการเงิน มีความผิดปกติ มีประวัติการฟอกเงินหรือไม่อย่างไร ก็สามารถขอข้อมูลไปยัง ปปง. หรือแม้กระทั่งเรื่องของประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ในกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมก็สามารถประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงาน กสทช. ได้
แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหากลับไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ มิหนำซ้ำยัง “ปล่อยผี” ไฟเขียวให้ผู้สมัครทุกรายเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ราวกับมหกรรมการประกวด “ไมค์ทองคำ” เข้าไปเสียอีก จึงไม่แปลกที่เมื่อรายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” เหล่านี้ถูกส่งไปถึงมือที่ประชุมวุฒิสภา จึงถูก “ถลกหนังหัว” ถูกประจานความฉาวโฉ่ กระทำกันแบบลวกๆ จนงานเข้า
อย่าง 14 รายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ที่คณะกรรมการสรรหาส่งเข้าสู่ประชุมวุฒิสภาครั้งล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนก่อนนั้น อย่างน้อย 7-8 ว่าที่ กสทช.ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามานั้นต่างถูกผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขาอย่างหนักว่า กรรมการสรรหาพิจารณากันอีท่าไหน ถึงได้ปล่อยผ่านเข้ามาได้สุด "โหลยโท่ย" ขนาดนี้ ประเภทรับราชการเป็นนายทหารอากาศ (ขาดรัก) มาทั้งชีวิต แต่กลับได้รับการคัดเลือกในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง
หรือบางคน ยังคงเป็นอธิบดีหน่วยงานที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยตรง ซึ่งถือว่าขัดแย้ง เป็น Conflict of Interest ก็ยังได้รับการปล่อยผีเข้ามาได้ บางคนที่มีประวัติด่างพร้อย ถูกสังคมตี้งข้อกังขาว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ หากปล่อยให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น กสทช. ก็อาจทำให้หน่วยงานถูกลากไปเสียค่าโง่ให้กับบริษัทเอกชนที่ปูเสื่อรอกันอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ การสรรหา กสทช.ระลอกใหม่ ที่เพิ่งปิดรับสมัครกันไปวันวาน โดยมีบรรดาเซเล็ป ระดับนายพล นักวิชาการ และอดีตผู้บริหารหน่วยงานตบเท่าเข้ารับการสรรหาถึง 78 คนนั้น ทุกฝ่ายจึงหวังว่า บทเรียนจากการที่ผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขาในกระบวนการสรรหาตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะทำให้คณะกรรมการสรรหา ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีจุดยืนในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยยึดตัวบทกฎหมาย กสทช.เป็นหลัก คงจะไม่กระทำกันแบบลวกๆ อีก!
แม้ว่าคณะกรรมการสรรหา 4 ใน 7 คน จะเป็น “คนหน้าเดิม” ที่เคยทำพลาดมาแล้วมา 2 ครั้ง2 คราว แต่เมื่อต้องกลับมาทำหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่ได้สะสางปัญหาความ อึมครึมทั้งหลายทั้งปวงไปหมดแล้ว
ยิ่งหากทุกฝ่ายจะย้อนรอยไปดูเหคุผลในการแก้ไข พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2564 ล่าสุดนั้น จะเห็นได้ว่าท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ระบุเหตุผลที่ต้องแก้ไขเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ...โดยที่มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯพ.ศ. 2560 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตลอดจนหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งวิธีการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
แต่ปรากฏว่าได้เกิดสภาพปัญหาในทางปฏิบัติบางประการ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคล ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับได้มีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับคัดเลือก จึงสมควรแก้ไขกฏหมายฉบับนี้เพื่อขจัดข้อขัดข้องทั้งปวงที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายสรรหาว่าที่ ”7อรหันต์กสทช.ชุดใหม่” (ดูประกาศราชกิจจานุเบกษาที่แนบมา) ล็อคไว้เลยว่า..คณะกรรมการสรรหาฯต้องตรวจคุณสมบัติผู้สมัครอย่างเข้มข้น และต้องประกาศรายละเอียดคุณสมบัตรของผู้สมัครอีกด้วย ไม่สามารถจะกระทำแบบลวกๆหรือปล่อยผีส่งผู้สมัครแบบยกเข่งถึง 80 ราย ให้วุฒิสภาฯพิจารณาดังเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้กฏหมายสรรหาฉบับใหม่มีการป้องกันไม่ให้การสรรหากสทช.ชุดใหม่ ”ซ้ำรอยเดิม” หรือเรียกได้ว่า ป้องกันการ ”ถูกคว่ำกระดาน” สรรหาแบบซ้ำซาก!
ดังนั้น หากคณะกรรมการสรรหาฯ บิดพริ้วไม่ดำเนินการตามกฏหมายดังกล่าว มีสิทธิ์ถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ขณะที่ผู้สมัครแจ้งคณสมบัติไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อาจมีสิทธิ์ให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าพนักงาน!
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการสรรหายังคงดำเนินการสรรหาไปตาม “ครรลองเดิม” โดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย และเจตนารมย์ของการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ ก็คงหนีไม่พ้นที่เราจะได้ว่าที่ กสทช. "ไม่ตรงปก" คือได้บุคคลที่เต็มไปด้วยบาดแผล ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญที่แท้จริง เผลอๆ อาจได้บุคคลที่กลุ่มทุนการเมือง ผู้มีอำนาจ หรือ Invisible Hand ที่ไหนก็ไม่รู้ คอยชักใยอยู่เบื้องหลังเข้ามาอีก
ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อสถานะของ กสทช. และเส้นทางการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างรุนแรง!