ขณะที่สังคมกำลังถามหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวนโยบายพลังงานของประเทศ จากการที่กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถจะ “ผ่าทางตัน” การจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ของแผนจัดหาเดิมได้ ที่ต้องให้บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ชนะประมูลสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แปลงในอ่าวไทย เข้าพื้นที่เพื่อ “รับไม้ต่อ” จากผู้รับสัมปทานเดิมคือ “กลุ่มเชฟร่อน” ได้
อ่านเพิ่มเติม:
เนตรทิพย์:บทความพิเศษ..
ใครรับผิดชอบ! “ค่าไฟ-พลังงานพุ่ง” เซ่นนโยบายพลังงานหลงทิศ!
http://www.natethip.com/news.php?id=4382
เนตรทิพย์:Special Report
ลับ ลวง พราง พลังงาน.. กับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม (ตอนที่1)
http://www.natethip.com/news.php?id=4149
ลับ ลวง พราง นโยบายพลังงาน.. กับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม (ตอนที่2)
http://www.natethip.com/news.php?id=4174
เนตรทิพย์:Hot Issue
กรมเชื้อเพลิงก้นรัอน.. เร่งเครื่องเจรจาเปิดแหล่งก๊าซ
http://www.natethip.com/news.php?id=4175
จึงทำให้ทิศทางพลังงานและอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้า ต้อง “ยืนอยู่บนเส้นด้าย” ด้วย ภาพรวมปิโตรเลียมของประเทศไทยนั้น มีการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแยกเป็นกำลังการผลิตที่ได้จากแหล่งก๊าซในประเทศ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และที่เหลืออีกประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้กำลังการผลิตในประเทศนั้นมาจาก 2 แหล่งใหญ่ในอ่าวไทย คือ “แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช” ที่มีกำลังการผลิตรวมกันอยู่ประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือกว่า 50% จากกำลังการผลิตทั้งหมด
เมื่อกำลังการผลิตหลักภายในประเทศต้องมา “สะดุดตอ” จากการเปลี่ยนผ่านสัมปทานที่ไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ จึงทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จะป้อนให้โรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจ่อเกิดปัญหาขาดแคลนอย่างรุนแรง และจำเป็นต้องนำเข้า LNG ในราคาสูงลิบลิ่วจากต่างประเทศทดแทน
แต่จนถึงวันนี้ ดูเหมือนกระทรวงพลังงานและรัฐบาลจะยังไม่ยอมปริปากบอกความจริงกับประชาชนแต่อย่างใด ทั้งที่ในอนาคตอันใกล้นั้นประชาชนคือผู้ที่ต้องแบกรับในควาสมล้มเหลวด้านพลังงานที่ว่านี้!
ย้อนรอย..นโยบายจัดหาก๊าซธรรมชาติ!
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงพลังงาน โดย ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ในเวลานั้น ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย หมายเลขที่ G1/61 (แหล่งเอราวัณ )กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย หมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับบริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
การลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต Production Sharing contact หรือ PSC สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ถือเป็นสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ จากที่เคยใช้ระบบสัมปทานมานานร่วม 40 ปี
แต่เมื่อเกิดกระแสเรียกร้องจากภาคประชาชนที่กดดันให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานปรับเปลี่ยนนโยบายการให้สัมปทานขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต PSC ด้วยเชื่อว่า จะเป็นระบบที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับนโยบายพลังงานของประเทศ และสามารถที่จะดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าลงทุน สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งสองแปลงภายใต้ระบบ PSC ดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561
โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 2 รายเท่านั้น คือ แปลงสำรวจ หมายเลข G 1/61 (แหล่งเอราวัณ) คือ กลุ่มบริษัทเชฟรอน Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Limited กับกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัทเอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) ก็มีผู้เข้าประมูลเพียง 2 รายเช่นกัน คือ กลุ่มบริษัทเชฟรอน ฯ กับกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ก่อนที่กลุ่มบริษัท ปตท. สผ.เอ็นเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนท์ จะเป็นผู้ชนะการประมูลสิทธิทั้ง 2 แหล่ง ดังกล่าว และกระทรวงพลังงานได้นำเสนอผลการประมูลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561
ในเงื่อนไขสัญญาประกอบการดังกล่าว ได้กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเอาไว้ในช่วง 10 ปีแรก จะต้องดำเนินการผลิตก๊าซจำนวน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช โดยกำหนดราคาที่ต้องขายให้กับประเทศในราคาคงที่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู (ประมาณ 4 เหรียญ/ล้านบีทียู) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาก๊าซในปัจจุบันที่ผู้ผลิตเดิม คือ กลุ่มเชฟรอน ส่งต่อให้แก่ภาครัฐที่ราคาประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
กระทรวงพลังงานในเวลานั้นถึงกับตีปี๊บข่าวดีให้กับประชาชนคนไทย เพราะผลพวงจากการที่ผลักดันให้ ปตท.สผ.เข้าไปรับไม้ต่อผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลงดังกล่าวได้นั้น ไม่เพียงจะสร้างความมั่นคงให้กับนโยบายพลังงานของประเทศแล้ว ยังจะทำให้แนวโน้มราคาค่าไฟลดลงประมาณ 15 - 20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ราคา 3.6 บาทต่อหน่วยจะลงมาเหลืออยู่ที่ประมาณ 3.4 บาทต่อหน่วย
นอกจากนั้น โรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศยังได้รับก๊าซในปริมาณเพียงพอกับการนำใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการผลิตก๊าซ LPG และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ เป็นการสร้างหลักประกันว่า ประเทศไทยหรือประชาชนจะมีแก๊สธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง
แต่ถึงวันนี้..วินาทีนี้ที่นโยบายดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ กระทรวงพลังงานไม่สามารถจะเจรจาผ่าทางตันให้ ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ฯ เข้าไปรับไม้ต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมหรือเชฟรอนได้ และไม่สามารถจะดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งได้ตามกำหนด จนทำให้มีแนวโน้มที่ประเทศอาจขาดแคลนก๊าซธรรมชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในระยะ 1-2 ปีจากนี้
แม้กระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาด้วยการเปิดเสรี Shipper ผู้ประกอบการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมนอกเหนือจาก ปตท. ที่ผูกขาดการนำเข้ามาตลอด โดยมีการประมาณการนำเข้า LNG ในปีนี้เอาไว้ 4-5 แสนตัน และเพิ่มเป็น 1.74 ล้านตันในปีหน้า และ 3.02 ล้านตันในปี 66 แต่เมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกพุ่งกระฉูดไปถึง 12-15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้ารายอื่นๆ ต่างหนีหายกันไปหมด
และมีแนวโน้มที่สุดท้ายแล้ว หนีไม่พ่นจะต้องโอนโควตานำเข้า LNG ทั้งหมดไปอยู่ในมือ ปตท.อยู่ดี จึงทำให้แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ LNG และ LPG ที่จะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในอนาคตจะต้องปรับเพิ่มตามไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนของค่าไฟฟ้าในมือประชาชน ขณะที่กลุ่มบริษัท ปตท.ที่แม้จะต้องแก้เกมในการนำเข้า LNG จากต่างประเทศแทนการผลิตจากแหล่งสัมปทานที่ได้รับ
แต่ดูเหมือนผลประกอบการของกลุ่ม ปตท. จะไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายพลังงานที่ว่านี้แม้แต่น้อย จนก่อให้เกิดคำถามจากหลายภาคส่วนว่า แท้จริงแล้ว ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายจัดหาพลังงานของประเทศข้างต้นน้ัน มาจากความ "ตั้งใจ" หรือมาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายกันแน่!
แต่จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบในความล้มเหลวที่กำลังเกิดขึ้น และยังไม่มีใครออกมาสืบสาว ใครคือไอ้โม่ง?