ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทย นำเสนอ โดย นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามมติ ครม.เดิม ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมกลับไปทำรายละเอียดให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีข้อสงสัย เมื่อ กทม. ได้สรุปข้อมูลต่าง ๆ จึงได้เสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่พิจารณา ก่อนแจ้งกลับมายังกระทรวงมหาดไทย และนำมาเสนอกลับมายัง ครม. วันนี้
ทั้งนี้ กทม. ได้แจ้งกลับมาว่า ปัจจุบันโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กทม. มีภาระหนี้ ณ เดือนมีนาคม 66 รวมทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท จึงต้องของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ในการประชุมวันนี้ ยังไม่มีการขออนุมัติใด ๆ คงต้องนำเสนอให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อไป
“ที่ประชุม ครม. วันนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีความเห็นอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งทาง กทม. ได้รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้ชี้แจงข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากเอกสาร เช่น การของบจากสภา กทม. รวมทั้งยังรายงานเรื่องของสัมปทานเบื้องต้นว่า กทม. อยากให้ใช้การดำเนินการตามรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพราะมีความเหมาะสมกว่า”
กทม.แบกหนี้ทะลัก 1.2 แสนล้าน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รายงาน ครม. ว่า มีแนวทางดำเนินโครงการฯ ดังนี้
1. กทม. เห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน และทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) จึงขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม. เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ) ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขต กทม. และยังมีผู้โดยสารไม่มาก
2. กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน มีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
3. จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เจรจากับบริษัทเอกชนก่อนหน้านี้ ให้บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กทม. จึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 จนถึงปัจจุบันกว่า 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับ กทม. ในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการและประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ
ข้อเสนอไร้รูปธรรม ครม.ได้แต่เหวอ!
อย่างไรก็ตาม กทม.เห็นควรให้มีการนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด
โดยปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถส่วนต่อขยาย 2 สายทาง รวมทั้งสิ้น 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 66) แยกเป็น 1) ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ 55,034.70 ล้านบาท 2) ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม. ได้จ่ายให้ กค. ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท 3) ค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท
หากพิจารณาสิ่งที่ กทม.และมหาดไทยนำเสนอนั้น ที่จริงคือความพยายามที่จะให้ ครม. อนุมัติการสนับสนุนการดำเนินโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยให้รัฐร่วมแบกรับภาระเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันทะลักขึ้นไปรวมกว่า 78,000 ล้านบาทนี้ โดยอ้างว่า เป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานที่เกินกำลังที่ กทม. จะแบกรับ อีกทั้งการให้บริการยังมาส่วนขยายไปให้บริการถึงปริมณฑล ที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กทม.ด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กทม. และกระทรวงมหาดไทย กลับไม่มีการนำเสนอขออนุมัติการอุดหนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้อย่างขัดเจน เป็นเพียงการรายงานสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ทำให้ ครม. เพียงแต่รับทราบสถานะในปัจจุบันเท่านั้น
นอกจากนี้ ในการนำเสนอรายงานต่อ ครม. ในครั้งนี้ กทม. ยังไม่กล่าวถึงเรื่องภาระหนี้บีทีเอสเดิม ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างลงทุนระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 และหนี้ค่าจ้างเดินรถทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทม. ถูกฟ้องไปแล้วรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับภาระหนี้ส่วนต่อขยาย 2 สายทางอีกกว่า 78,000 ล้านบาทนี้ ภาระหนี้รวมในขณะนี้จะสูงกว่า 128,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยังไม่รวมค่าจ้างเดินรถที่จะเกิดตามมาอีกจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572
นอกจากนี้ ยังไม่มีการพูดถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และ กทม. จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนหน้านี้ ที่มีข้อสรุปให้มีการต่อขยายสัญญาสัมปทานแก่บีทีเอสออกไป 30 ปี แลกกับการให้คู่สัญญาเอกชนแบกรับภาระหนื้ทั้งหมดที่เกิดขี้นด้วย