
มูลค่าส่งออกเดือน ก.พ. เติบโต 14.0%YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 13.6%YoY โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักต่างขยายตัว ด้านการนำเข้าชะลอตัวลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 4.0%YoY ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1,988.3 ล้านดอลลาร์ฯ
แม้การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่ยังคงเผชิญความเสี่ยงทั้งจากผลของสงครามการค้าและปัจจัยการเร่งส่งออกที่จะปรากฎชัดในระยะถัดไป จับตาการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในเดือน เม.ย. 2568 ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวเลขการส่งออกไทย
….
ดร. ฉมาดนัย มากนวล และ กฤตตฤณ เหล่าฤทธิ์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ระบุว่า.. มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัว 14.0%YoY มูลค่าส่งออกเดือน ก.พ. อยู่ที่ 26,707.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 14.0%YoY ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 13.6%YoY โดยการส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ต่างเติบโตต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำในเดือนนี้เติบโตที่ 126.1%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัวอยู่ที่ 13.6%YoY โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจาก

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2%YoY เติบโตต่อเนื่องจาก 17.0%YoY ในเดือนก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+51.3%) อัญมณีและเครื่องประดับ (+106.3%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+32.8%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบกลับมาขยายตัว (+4.5%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-13.2%)อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-46.1%) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.9%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัวได้ 0.1%YoY โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.0%YoY จากเดือนที่ผ่านมาซึ่งเติบโต 9.9%YoY สวนทางกับสินค้าเกษตรที่หดตัว 1.6%YoY หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 2.2%YoY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา (+35.7%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ (+27.7%) น้ำตาลทราย (+ 25.8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+14.4%) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป (+9.3%) เป็นต้น ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัวสูง ได้แก่ ข้าว (-34.3%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-15.8%) และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-3.7%) หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เป็นต้น

การส่งออกรายตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และทองคำเป็นสำคัญ..
จีน: ขยายตัว 22.4%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและเม็ดพลาสติก เป็นต้น
ญี่ปุ่น: หดตัว 3.1%YoY กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
EU27: ขยายตัว 4.5%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ASEAN-5: หดตัว 0.5%YoY กลับมาหดตัวจากเดือนก่อน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. อยู่ที่ 24,718.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.0%YoY ชะลอตัวจาก 7.9%YoY เมื่อเดือนก่อน โดยการนำเข้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าทุน (-11.8%YoY) สินค้ายานพาหนะฯ (-8.6%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (-5.7 %YoY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวมีทั้งส่วนสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+12.8%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+10.3%YoY) ส่วนดุลการค้าเดือน ก.พ.เกินดุล 1,988.3 ล้านดอลลาร์ฯ

แม้การส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ การส่งออกของไทยขยายตัวส่วนหนึ่งจากแรงหนุนของการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโต และปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ (PMI Imports) เดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 52.6 (จาก 51.1 เมื่อเดือนก่อน) สอดคล้องกับการผลิตโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. 68 อยู่ที่ระดับ 50.6 สูงกว่าเดือนก่อนที่ 50.1
จับตาการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในเดือน เม.ย. 2568 โดยสินค้าไทยเสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บ เนื่องจากมีส่วนต่างภาษีและเกินดุลกับสหรัฐฯมาก เช่น HDD คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ล้อ โซลาร์เซลล์ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นกลุ่ม TOP-6 ของสินค้าที่เกินดุลสหรัฐฯ

หากมีการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อไทยย่อมกระทบการส่งออกของไทยในภาพรวม เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2567 (+13.7% YoY) โดยถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
มองต่อไปข้างหน้า ประเมินว่าสงครามการค้า ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกไทย โดยในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน การส่งออกของไทยเร่งตัวขึ้นก่อนสหรัฐฯจะเริ่มใช้มาตรการภาษีกับจีน แต่หลังจากการขึ้นภาษีในเดือน ก.ค. 2018 แล้ว การส่งออกไทยชะลอและหดตัวลง ดังนั้น การส่งออกที่เร่งตัวขณะนี้อาจเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะแผ่วลง ทั้งนี้ ไทยเสี่ยงถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรง ต่างจากรอบก่อนที่พุ่งเป้าเฉพาะจีน นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแย่งตลาดของจีน ตลอดจนการกีดกันและตอบโต้ที่รุนแรงจะฉุดการค้าโลกให้อ่อนแรงลงอีกด้วย
