
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้อภิปรายถึงความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาลกับการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทาน

นายสุรเชษฐ์ อธิบายว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เซ็นสัญญาข้อตกลงร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 แต่เวลาผ่านมากว่า 5 ปีครึ่ง กลับยังไม่เริ่มสร้าง ทั้งที่โดยปกติโครงการนี้จะให้สิทธิ์ทุนระดับแสนล้านเท่านั้น แต่ทราบข่าวมาว่า ทุนใหญ่ยังไม่อยากเริ่มงานนี้ เพราะหนี้สินเต็มเพดาน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงอยากแก้สัญญาก่อนเริ่มโครงการ
ทั้งนี้การก่อสร้างที่ยังไม่เกิดขึ้นแม้จะเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว เพราะ การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องออกหนังสือสั่งให้เอกชนเริ่มก่อสร้าง แต่เอกชนได้ใช้ข้ออ้างข้อ 6.1 (3) ที่ระบุว่า เอกชนคู่สัญญาต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ แต่รอให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมก่อน จึงจะออกหนังสือสั่งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้

“แต่ปัญหา คือ ในการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในโครงการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีความจำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติม จากเอกชนผู้รับสัมปทาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อน ซึ่งแม้บีโอไอจะขอให้จัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณาไปหลายครั้ง จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 แต่ข้อเท็จจริงคือ ยังไม่มีการส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารรณาให้กับคณะกรรมการแต่อย่างใด มีแต่การขอเลื่อนจัดส่งเอกสาร”
การขอเลื่อนระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ นับเป็นการกระทำการผิดสัญญา และควรที่จะได้รับการลงโทษ ทว่าปัจจุบันรัฐบาลยังคงยินยอมให้มีการเลื่อนเช่นนี้เรื่อยมา จึงตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีความสัมพันธ์กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นบิดาของ แพทองธาร ชินวัตร นากยกฯ คนปัจจุบัน อีกทั้งนายกฯ ยังเป็นผู้กำกับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จึงทำให้รัฐบาลใจดีและยอมอ่อนให้กับเอกชนเจ้านี้หรือไม่
นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า รัฐบาลต้องสูญเสียเงินไปตั้งงบประมาณตามการแก้ไขสัญญาการลงทุน จากเดิมที่รัฐบาลจะชำระเงินค่าก่อสร้างหลังโครงการแล้วเสร็จในปี 2574 กลายเป็นการสร้างไปและจ่ายไป ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณเพื่อชำระค่าโครงการในแต่ละปี ผลก็คือการเบียดบังพื้นที่งบประมาณในปี 2569 จำนวน 21,015 ล้านบาท ปี 2570 เบียดบังไปอีก 37,558 ล้านบาท ปี 2571 อีก 35,065 ล้านบาท และปี 2572-2573 อีก 31,594 ล้านบาท รัฐบาลหน้าก็ซวยด้วยจากการอนุมัติในรัฐบาลนี้
