ลุยไฟแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน.. บอร์ด รฟท. เคาะทันทีหลังเสร็จศึกอภิปราย
บอร์ด รฟท. เคาะแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปรับร่นจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้าง เปิดทางเอกชน "จับเสือมือเปล่า" อ้างรัฐประหยัดดอกเบี้ย 2.4 หมื่นล้าน แถมโอนทรัพย์สินให้รัฐเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ ทั้งที่เป็นพื้นที่สัมปทาน
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ฉบับแก้ไขตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ดอีอีซี ที่ได้มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 และมอบหมายให้ รฟท. ไปดำเนินการ
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท. จะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแล นำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดไปยังสำนักนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเสนอบอร์ดอีอีซี และ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
โดยคาดว่า รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือน มิ.ย. 2568 ซึ่ง รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ หรือ NTP ได้ทันที ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยจะเริ่มนับอายุสัญญาไม่เกิน 30 วัน หลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ
รฟท. ออก NTP เริ่มงาน มิ.ย.นี้
รองผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวด้วยว่า หากสามารถลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ได้ภายในเดือน เม.ย. การรถไฟฯ จะออกหนังสือเริ่มงาน NTP ให้ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เริ่มงานได้ภายในเดือน มิ.ย. 2568 และแจ้งให้ ซี.พี. เร่งเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 2 จุดที่เป็นงานเร่งด่วนก่อน คือ บริเวณใต้รันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่ทับซ้อนโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งจะต้องเร่งการออกแบบเพื่อให้เริ่มก่อสร้างภายในปีนี้
#เปิดทางเอกชน “จับเสือมือเปล่า”
สำหรับหลักการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้มี 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ปรับวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (Public Investment Cost: PIC) จากเดิมกำหนดชำระเงินเมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ และเริ่มเปิดให้บริการเดินรถแล้ว จำนวนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท เป็นจ่ายเร็วขึ้นตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ รฟท. ตรวจรับ โดยมีวงเงินรวมเป็น 125,932.54 ล้านบาท ทำให้รัฐประหยัดค่าดอกเบี้ยได้ประมาณ 24,000 ล้านบาท
2. กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา
3. กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท. มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยเอกชนสละสิทธิ์เงื่อนไขการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก่อน
5. ปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น ของ สกพอ.
#ยันรัฐไม่เสียประโยชน์-โอนทรัพย์สินทันที
นายอนันต์ กล่าวว่า การปรับเงื่อนไขจ่ายคืนค่าก่อสร้าง จากเดิมที่ต้องก่อสร้างเสร็จและเปิดเดินรถแล้ว เป็นการ "สร้างไปจ่ายไป" นั้น ยังคงเป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ที่เอกชนยังคงรับความเสี่ยงทั้งด้านรายได้ จำนวนผู้โดยสาร การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตามหลักการเดิม ส่วนที่รัฐจ่ายคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นตามผลงานการก่อสร้างที่เสร็จตามงวดงานจริง โดยเอกชนต้องโอนทรัพย์สินแต่ละงวดงานที่แล้วเสร็จเป็นของรัฐทันที โดยเอกชนยังคงดูแล บำรุงรักษา และบริหารตามระยะเวลาสัญญา 50 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐจะมีเงินทุนสำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อได้ เมื่อเอกชนไม่สามารถดำเนินการต่อ และรัฐสามารถจัดหาผู้ดำเนินการรายใหม่ได้ โดยไม่มีประเด็นเรื่องทรัพย์สิน เหมือนกรณีโครงการโฮปเวลล์
"การได้รับเงินชดเชยเร็วขึ้น จะทำให้เอกชนมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินจากสถาบันการเงินได้ แต่เอกชนคู่สัญญาจะต้องวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) เพิ่มเติมเพื่อเป็นหลีกประกันว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ตามสัญญาแก้ไขใหม่ โดยกำหนดให้เอกชนนำมาวางหลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ 270 วัน เพื่อให้มีเวลาดำเนินการเรื่อง แหล่งเงิน ทั้งนี้การให้วางแบงก์การันตีเพิ่มเติม"
สำหรับหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. หนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างงานโยธา รวมดอกเบี้ยแล้ว วงเงิน 125,932.54 ล้านบาท (ให้แบ่งเป็นแบงก์การันตี 5 ฉบับๆ ละ 24,000 ล้านบาท) โดยมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งรัฐจะทยอยคืนเป็นงวด เมื่อมีการก่อสร้างงานโยธาเสร็จตามงวดงาน
2. หนังสือค้ำประกันค่างานระบบ รวมดอกเบี้ยแล้ว จำนวน 14,813.49 ล้านบาท โดยจะคืนแบงก์การันตีนี้ พร้อมกับแบงก์การันตีงานโยธา ฉบับที่ 5
3. หนังสือค้ำประกัน ค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ย) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท โดยหักค่าสิทธิ์งวดแรก 1,500 ล้านบาท และรับแบงก์การันตีคืนเท่ากับค่าสิทธิ์ที่จ่ายในงวดต่อๆ ไปจนครบ 7 งวด
และ 4. หนังสือค้ำประกันคุณภาพเดินรถ วงเงิน 748.25 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี