
จี้รัฐ-พลังงานเร่งเครื่องตลาดไฟฟ้าเสรี ร่นเวลาเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด - Net Zero เร็วขึ้นจากแผนแม่บทเดิม ไม่งั้นอาจสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน นักลงทุนระดับเวิลด์คลาสอาจย้ายซบเพื่อนบ้าน
…
ในงานสัมมนา “Advancing Thailand Energy Transition with Wind Power” จัดโดยสมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย) 1 ในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง คือ “การไม่ริเริ่มเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร”

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนว่า จากที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ ซึ่งล่าช้ามาร่วม 2 ปี ยังไม่ประกาศใช้นั้น
โดยกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 51% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2580 เพื่อสนับสนุนประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 โดยจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภาคผลิตไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่ 61.80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2580 จากปี 2568 ที่คาดว่าจะปล่อยราว 86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ จากร่าง PDP 2024 ซึ่งเป็นแผนแม่บทพลังงานของประเทศ ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว เห็นว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากไม่สามารถช่วยผลักดันลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังมีสัดส่วนที่ตํ่า และยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการไฟฟ้าสะอาดของนักลงทุนได้เพียงพอ

#เปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดสุดอืด
โดยผลสำรวจ 120 ประเทศ ของ World Economic Forum 2024 คะแนนดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย มีคะแนนเฉลี่ยที่ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยโลก และมีอันดับที่ตํ่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างเวียดนามอยู่อันดับ 32 มาเลเซียอยู่อันดับ 40 และอินโดนีเซีย อยู่อันดับ 54 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนพลังงานสะอาดที่ตํ่า สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ล่าช้ากว่าทุกประเทศในภูมิภาค และไร้เป้าหมายพลังงานสะอาดปี 2573 ในขณะที่เวียดนามเร่งดึงดูดการลงทุนด้วยเป้าหมายการมีการผลิตพลังงานสะอาดในสัดส่วน 47% อินโดนีเซีย 44% มาเลเซีย 24% ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม กำหนดในปี 2593 ส่วนของไทยกำหนดสัดส่วนที่ 51% ในปี 2580 จึงเป็นเครื่องสะท้อนที่นำมาซึ่งการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ล่าช้ากว่าเพื่อนบ้านในปี 2608
ทั้งนี้ สาเหตุที่ไทยยังผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในสัดส่วนที่ตํ่า ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 10 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดนั้น เนื่องจากไทยยังไม่มีการเปิดตลาดเสรีไฟฟ้าสะอาดผ่านบุคคลที่ 3 หรือ Third Party Access เพื่อสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากภาครัฐยังไม่มีการเปิดไฟฟ้าเสรี ภาคการผลิตที่ต้องการพลังงานสะอาด จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tarifs : UGT) ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ

#หวั่นลงทุน ตปท. หนีไปซบเพื่อนบ้าน
"หากไม่มีการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้าเพื่อเร่งผลิตพลังงานสะอาด ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และเสี่ยงต่อการที่ไทยจะสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อาจจะมากถึง 45% โดยเฉพาะจากประเทศที่เป็นผู้นำการลงทุน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.95 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2018-2023"
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น Bio Circular Green Economy และ Next-Gen Automotive ล้วนมีความต้องการพลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน แต่หากเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดได้ ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
"บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง หากยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดได้เพียงพอ บริษัทเหล่านี้อาจย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้ไทยเสียบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการจ้างงานลดลง ที่เป็นผลจากการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทยยังล่าช้า ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิม หรือ “ธุรกิจสีนํ้าตาล” ค่อย ๆ หดตัว"
การเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้านี้อาจทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งงานกว่า 11 ล้านตำแหน่งในอนาคต และหากประเทศยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงอยู่ต่อไป ไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2608

#จี้รัฐเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของ Data Center คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจทำให้พลังงานสะอาดไม่เพียงพอ และก่อให้เกิดการใช้พลังงานที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีของประเทศไทย จึงควรมีเป้าหมายในการเปิดเสรีที่ชัดเจน โดยช่วงแรก (2026-20230) ควรมุ่งเน้นดำเนินการกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และธุรกิจที่ต้องการพลังงานสะอาด เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM ผ่านทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) ระหว่างผู้ผลิตพลังงานสะอาดและผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งคิดเป็น 41% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในตลาดไฟฟ้าเสรี
ระยะที่สอง (ก่อนปี 2037) ควรเพิ่มการถึงตลาดเสรีสำหรับกลุ่มผู้ใช้ในโรงงานและอาคารควบคุมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมไปถึงผู้ประกอบการในหกิจขนาดกลาง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 45% ก่อนที่ในระยะที่สาม (ก่อนปี 2050) ควรเพิ่มกลุ่มกิจกรรมวิสาหกิจดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งคิดเป็น 65 และหลังจากนั้นใน ระยะที่สี่ จึงครอบคลุมถึงภาคครัวเรือนทั้งหมดำให้เกิดตลาดไฟฟ้าเสรีในประเทศไทยครบทั้ง 100%