
ชักทะแม่งๆ ยังไงละ!
กับ "โครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน" ในเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุนกว่า 340,000 ล้านบาท ที่จะก่อสร้างต่อจากโครงการในเฟสแรก (กรุงเทพ-โคราช) ที่ปัจจุบันยังยักแย่ยักยันไม่ไปไหน?
…
โม่แป้งกันมากว่า 6 ปีแล้ว นับแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้ กลับมีความคืบหน้าไปเพียง 35-40%เท่านั้น คาดว่าจะต้องทอดยาวไปถึงปี 2572 เป็นอย่างน้อยจึงจะแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาก่อสร้างเฟสแรก 250 กม. (ปาเข้าไป 12 ปีพอดิบพอดี)
จนทุกฝ่ายอดหวาดหวั่นไม่ได้ว่า หากใช้มาตรฐานก่อสร้างแบบ "เต่ายังเรียกพ่อ" แบบนี้ก่อสร้างโครงการในเฟส 2 ที่จะต้องก่อสร้างอีก 356 กม. จะไปเสร็จเอาทศวรรษไหนกันหนอ

หรือเราต้องไปรอให้โครงการรถไฟจีน-ลาว ที่สร้างมาพร้อมกับประเทศไทยเรา แต่เปิดให้บริการไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2564 โละโบกี้รถไฟเก่ามาให้หรือเปล่า จึงจะแล้วเสร็จจะได้ไม่ต้องไปซื้อหาขบวนรถไฟที่ไหนอีก รอเพื่อนบ้านโละของเก่ามาให้จบ!
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ออกมาแถลงกับสื่อว่า การประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 2 ที่ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา TOR โดยคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3เดือนและเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ในปลายปีนี้

โดยการประกวดราคาที่จะมีขึ้นนั้น รฟท. ยืนยันจะไม่ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) ทั้งจะกำหนดให้ใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทยเป็นหลัก โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่หากผู้รับเหมาไทยจะมีการจัดตั้งกิจการร่วมค้ากับผู้รับเหมาต่างชาติ ก็ไม่สามารถกีดกันได้ ทั้งยังจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม และตรวจสอบผลงานของผู้รับเหมาต่างชาติให้เข้มงวดมากขึ้น
นายสุริยะ ยังย้ำด้วยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ฝ่ายไทยจะควบคุมงานการก่อสร้างเองทั้งหมด รวมถึงออกแบบ และตรวจแบบเองทั้งหมด พร้อมทั้งจะใช้วัสดุภายในประเทศเกือบ 100% โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น ซึ่งเชื่อมั่นในความสามารถของวิศวกรของไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท. ยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 จะกำหนดให้ใช้วัสดุในประเทศ 100% โดยเฉพาะในเรื่องการทดสอบวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะต้องมีการตรวจรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ กล่าวคือ อาทิ การตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติ และรับรองการผลิต

อีกทั้งก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทย คือ ต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด ขณะเดียวกัน เมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้างยังต้องมีการเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด ขณะที่ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก เมื่อผ่านมาตรฐานแล้ว จึงจะทำการเทคอนกรีตได้..จบข่าว!
เมื่อการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม "ทุบโต๊ะ" มีข้อยุติชัดเจนที่ลุยไฟรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยใช้ผู้รับเหมาไทยก่อสร้าง ใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศเป็นหลักทั้ง 100% ใช้วิศวกรผู้ควบคุมงานที่เป็นของไทยแทนจีนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด จนเรียกได้ว่าแปลงร่างเป็น "ทรานสฟอร์มเมอร์” (Transformer) ของแทร่แล้ว
ก็ไม่รู้เราต้องเปลี่ยนชื่อโครงการนี้เสียใหม่เป็น "โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยแทร่" กันหรือไม่
และความร่วมมือระหว่างไทย-จีนที่เหลืออยู่ในโครงการนี่ยังมีอะไรอีก!
เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ก็ "ตั้งแท่น" จะประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนระบบรถไฟฟ้าและเดินรถเองไม่ได้จัดตั้งองค์กรเดินรถไทย-จีน หรือใช้บริษัทร่วมทุนไทย-จีนขึ้นมาดำเนินการแบบที่ สปป.ลาว ดำเนินการไปในโครงการรถไฟจีน-ลาว
แปลให้ง่ายวันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนนั้น "เหลือแต่ชื่อ" โครงการเท่านั้น ไส้ในทั้งหมดของโครงการนั้นไม่เกี่ยวข้องกับจีนอีกแล้ว!

#แนะรัฐไปให้สุดซอยตั้ง รง.ผลิตรถไฟเอง
ไหนๆ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก็จะลุยไฟ "โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยแทร่" แบบไทยทำ ไทยใช้ ไทยโม่แป้งเอง 100% กันแล้วก็ทำไมไม่ลุยไฟไปให้ "สุดซอย" ปัดฝุ่นแผนตั้งโรงงานผลิตโบกี้รถไฟขบวนรถไฟและหัวรถจักรในประเทศขึ้นมาโม่แป้งควบคู่กันไปเสียทีเล่า
เพราะก่อนหน้า เมื่อปลายปี 2567 ฯพณฯ ท่านสุริยะ เองก็เพิ่งยกคณะผู้บริหารรถไฟและกรมขนส่งทางรางเดินทางไปดูงานที่ตุรกี และประชุมหารือร่วมกับกระทรวงงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานของตุรกี รวมทั้งนำคณะไปดูงานบริษัท TRASA รัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานตุรกี ที่มีการพัฒนาขบวนรถไฟขึ้นใช้งานเองในประเทศ
ก่อนที่ รมว.คมนาคม จะประกาศนโยบายส่งเสริมการผลิตตู้รถไฟและหัวรถจักรภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าเช่นเดียวกับตุรกี โดยมอบหมายให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นแกนหลักทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำความรู้แนวทางจากการดำเนินการที่เรียนรู้จากประเทศตุรกี ไปดำเนินการให้เกิดการผลิตรถไฟและหัวรถจักรขึ้นในประเทศไทย ทดแทนการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อให้การพัฒนาการบริการขนส่งด้วยระบบรางของประเทศมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ตั้งแท่นขี้นมาเป็นรูปร่างขนาดนี้แล้ว ก็ทำไมไม่ถือโอกาสนี้ลุยไฟไปให้สุดซอยไปเสียเลย โดยเริ่มต้นจากโครงการจัดหาขบวนรถไฟดีเซลรางไฮบริด 183 คัน วงเงิน 24,000 ล้านบาท ที่ รฟท. กำลังโม่แป้งจัดทำ TOR อยู่เวลานี้ ที่นัยว่าเป็นการอนุมัติทดแทนโครงการรถไฟดีเซลรางไฟฟ้า Bi-Mode เดิมที่ รฟท. เคยนำเสนอก่อนหน้า แต่มีปัญหาตัวรถจักรที่ต้องแบกเครื่องสับสวิตช์ไฟฟ้าไว้บนหัวที่มันไม่เวิร์ก เลยต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลควบคู่ไปกับการติดตั้ง PowerBank ติดไปกับตัวรถ แต่ยังมีข้อครหาว่า ราคาตัวรถจักรดีเซลไฮบริดที่ว่า ทำท่าจะแพงกว่าโครงการเดิมเป็นเท่าตัว แถมยังแพงกว่าที่การรถไฟมาเลย์ ที่เคยมีการจัดซื้อในสเปคเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอีกด้วย ทำเอาหลายต่อหลายฝ่ายหูผึ่งชี้แจงกันให้วุ่น
ยังดีที่ในการเปิดอภิป่ายไม่ไว้วางใจนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านไม่หยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมากระซวก !
อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดซื้อรถจักรดีเซลรางไฮบริด จะถูก-จะแพงอย่างไร สเปคที่ไทยจัดซื้อแตกต่างจากของมาเลย์และของเก่าอย่างไรก็คงว่ากันไป แต่เท่าที่รู้มานัยว่า การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ยังมีแผนจัดหาขบวนรถจักรดีเซลรางไฮบริดแบบนี้ตามมาอีกเป็นพรวน ไม่ต่ำกว่า 450-500 ตู้ ยังไม่รวมโครงการรถไฟไทยแทร่ กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคายนี่ และอาจรวมไปถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีก หากกลุ่มทุน ซีพี. ถอดใจไม่ทำต่อ
มากมายมหาศาลขนาดนี้ ก็สู้ปัดฝุ่นแผนจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบตู้รถไฟในประเทศขึ้นมาเลยไม่ดีกว่าหรือ กำหนดให้เอกชนที่จะเข้ามาต้องมีแผนตั้งโรงงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมกันไปเลย จะผูกปิ่นโตให้รายเดียวกินรวบไปถึงโครงการอื่นๆ ในอนาคต หรือแยกโครงการเพื่อให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาตั้งโรงงานผลิตตู้รถไฟและขบวนรถไฟในบ้านเราด้วยก็แล้วแต่นโยบายของ ฯพณฯ

แบบนี้ไม่ว่าจะประมูลจัดซื้อถูก-แพงยังไง เม็ดเงินก็ไม่รั่วไหลไปไหนยังคงกระจายอยู่ในประเทศไทยเรานี่แหละ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไปในตัว
ยิ่งบ้านเรานั้นได้ชื่อว่า เป็นสวรรค์และฐานผลิตรถไฟฟ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เปิดโครงการนี้เมื่อไหร่รับรองว่า เรียกเสียงเชียร์รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม กระหึ่มเมืองแน่ "คุณหนูของบ่าว"