
ทำเอาประชาชนคนไทยปรบมือดีใจกันระรัว กลบกระแสหวาดกลัวขวัญผวาจากแผ่นดินไหวไปชั่วขณะ.. กับเรื่องที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 มีมติ "รับทราบ" มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมีเป้าหมายปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 68 เหลือไม่เกินอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย
….
เรียกเสียงกรี๊ดปรบมือกันเกรียวกราว แทบกลบกระแสยี้ที่รัฐบาลกำลังมุบมิบๆ กระเตง "เผือกร้อน" ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... หรือ "เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์" เข้าที่ประชุมสภา ชนิดที่เรียกว่า "แผ่นดินไหว ตึกถล่ม" ยังเอาไม่อยู่!
เพราะเป็นการ "หักดิบ" ข้อเสนอของ "คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังคงเสนอให้กำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟในงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. ที่ระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย อยู่ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันดำเนินการใน 3 เรื่องภายใน 45 วัน ประกอบด้วย
1) การหาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และ FiT รวมถึงเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่อง โดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
2) หาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร
3) หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงได้
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันการประกาศราคาค่าไฟรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 68
#แผนแยบยล ยืมมือ ครม.ทุบค่าไฟ
แน่นอน! หากพิจารณากันผิวเผิน ถนนทุกสายต่างก็ขานรับ มติ ครม. ที่ออกมาแน่ กับการปรับลดและ "ทุบค่าไฟ" ระลอกใหม่ พร้อมชูจั๊กแร้เชียร์นโยบายพลังงานที่จะดำเนินการ 2-3 เรื่องใหญ่ที่คาราคาซังมานาน
แต่ผู้คว่ำหวอดในวงการพลังงานต่างดูออกว่า มติ ครม. ข้างต้น หาใช่การอนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะเรียกเก็บจากประชาชนรอบใหม่อย่างที่เข้าใจกัน เป็นเพียงแค่การ "รับทราบ" ราคาเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ พร้อมมาตรการ 3-4 เรื่องที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการควบคู่กันไปเท่านั้น

ก็ไม่เข้าใจว่า กระทรวงพลังงานจะกระเตงเรื่องนี้เข้ามาเสนอต่อที่ประชุม ครม. ไปเพื่ออะไร? ในเมื่อมีเวทีของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ก็มีนายกฯ เป็นประธานอยู่แล้ว
หรือว่านี่คือการวาง "หลุมพราง" ที่จะลากเอา ครม.ทั้งชุด มาเป็นตัวประกัน หากตนเองถูกฟ้องในอนาคต เพราะสามารถอ้างได้ว่าทุกอย่างดำเนินไปตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ครม.
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงความพยายามของกระทรวงพลังงาน ในอันที่จะทุบค่าไฟฟ้าลงมาข้างต้นเป็น "ดาบ 2 คม" ที่อาจทำให้รัฐบาล และ ครม.งานเข้าในอนาคตอันใกล้เอาได้
ลำพังแค่วิกฤตจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ "ไส้เน่า" ภายในตึก สตง. ปะทุออกมา ก็ไม่รู้ว่าจะลามเลียไปถึงไหนต่อไหน
ขณะที่ความเดือดร้อนของผู้คนที่กำลัง "ขวัญผวา" จากเหตุแผ่นดินไหวที่ทำเอาตึกรามบ้านช่อง อาคารสูง คอนโดฯ ทั้งหลายได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ผู้คนหลายพันหลายหมื่นชีวิต ยังไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารสถานที่พักของตนเองได้ และไม่รู้จะได้รับการซ่อมแซมให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิมได้เมื่อไหร่ และใครจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายซ่อมแซมนั้น
ธุรกิจน้อย-ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการคอนโดฯ อาคารชุด สถาบันการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ต่างพลอยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปด้วยนั้น ก็มีมูลค่าความเสียหายไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนล้าน
ไหนจะเรื่องที่ประเทศไทยยังโดนมหามิตรอเมริกา โดยประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ปรับขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้านำเข้าจากไทยรวดเดียว 37% ด้วยอีก ซึ่งไม่รู้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต-ส่งออกไปอีกกี่มากน้อย
#ดาบ 2 คม ทุบค่าไฟฟ้า
ผลพวงจากมติ ครม.ข้างต้น ยังทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานที่เคยเป็นตลาด "บลูชิพ" หลบภัยของกองทุนและนักลงทุนอยู่ดีๆ ต้องพลอยตกอยู่ในสภาพเป็น "ผู้ประสบภัย" ไปโดยปริยายด้วยอีก แล้วจะยังเหลือธุรกิจอะไรให้นักลงทุนไทย-เทศได้ปลดปล่อยลงทุนกันได้อีกเล่า
นโยบายพลังงานที่กำลังถือดาบไล่ทุบค่าไฟ และรุกไบ่รื้อสัญญาจัดหาไฟฟ้าในมือ กฟผ. - กกพ. ข้างต้น แม้ด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นการ "ทุบ" กลุ่มทุนพลังงาน ไถ่บาปให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกได้เสียที
แต่อีกด้านก็เป็นทั้ง "ระเบิดเวลา" ที่อาจทำให้รัฐติดกับดักตนเอง และกลายเป็นการเรียกแขกให้งานเข้าเอาได้ เพราะสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ Adder และ FiT ที่นัยว่า ตั้งราคารับซื้อสุดซอย ประเคนผลกำไรให้กลุ่มทุนพลังงานทั้งหลายนั้น เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกยุคสมัยหยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนกันมาโดยตลอด
การโจมตีเรื่องที่กระทรวงพลังงานในอดีต ไปกำหนดค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม Adder 5-8 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานหมุนเวียนทั้งหลายแหล่ซะแพงลิบลิ่ว ก่อนปรับมาเป็นรูปแบบ Feed in Tarif : FiT
แต่สุดท้ายก็ต้องจอดอยู่ที่ภาครัฐต่างจำนนกับเหตุผลที่ว่า นโยบายเหล่านี้อยู่ที่ภาครัฐเองเป็นผู้กำหนดและกำหนดเงื่อนเวลาเงื่อนไขรับซื้อเอาไว้สุดเข้มงวด หาใช่เรื่องที่ภาคเอกชนกระโดดลงไปโม่แป้งเองเสียเมื่อไหร่

เช่นเดียวกับเรื่องของ “ค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP)” ที่เป็นข้อถกเถียงกันมานับทศวรรษ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนจะไปหักคอ หรือ "หักดิบ" ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะ IPP SPP หรือ VSPP ได้ เพราะทั้งหลายทั้งปวงของการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้า และสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ก็มาจากเงื้อมมือของรัฐบาลเองหรือกระทรวงพลังงานเองที่เป็นผู้กำหนด
ขืนรัฐไปแตะต้องสัญญาเอกชนเหล่านี้ ก็มีหวังเรียกแขกให้งานเข้า ส่อจะถูกสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือนักลงทุน ผู้ถือหุ้นฟ้องกราวรูด!
ยิ่งในรายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย (รวมทั้งบริษัทลูก บริษัทร่วมทุนของ กฟผ. และกระทรวงการคลัง) การจะปรับเปลี่ยน Adder หรือ FiT จะนำเอาระบบอะไรเข้ามาทดแทน ก็ล้วนอยู่ที่รัฐบาลจะดำเนินการภายหลังจากสัญญาที่มีอยู่เดิมสิ้นสุดลงไปแล้วทั้งสิ้น
ที่ไปคาดหวัง จะไปแตะต้องสัญญาเจรจาขอให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยอมสละเลือดเนื้อ ดอกผลกำไรตนเองลงมา แบบที่กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลตีฆ้องเรื่องนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น สุดท้ายก็ไม่พ้นต้องไปเอาเม็ดเงินภาษีประชาชนไปอุดหนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เหมือนกับกรณีทวงคืนสนามกอล์ฟอัลไพน์ของนายกฯ และ "บิดานายกฯ" ที่ทุกฝ่ายเรียกร้องกันมานักต่อนักตั้งแต่ปีมะโว้นั่นแหล่ะ จนล่าสุดมีข่าวว่าอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อให้มีการส่งคืนที่วัดกันไปแล้ว เรียกเสียงกรี๊ดๆๆๆ เป่านกหวีดปี้ดๆๆๆๆๆ ขานรับกันเซ็งแซ่
ที่ไหนได้ภายใต้เงื่อนไขทั้งบริษัทและผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต้องได้รับการชดเชยค่าเสียหายคืนจากรัฐบาลทุกบาททุกสตางค์พร้อมดอกเบี้ย มันแปลว่าอะไร สาธุชนที่พอจะอ่านออกเขียนได้ลองกลับไปไตร่ตรองกันดูเอา!!!

ดังนั้น มติ ครม. ที่รับทราบตามข้อเสนอของ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.กระทรวงพลังงาน ในครั้งนี้ ที่แม้เจ้าตัวจะยืนยัน นั่งยันว่า เป็นการปรับลดค่าไฟฟ้าโดยไม่กระทบหรือไม่ใช้งบประมาณรัฐสักบาทนั้น ก็คงหนีไม่พ้นจะไปเขย่ากระเป๋าเงิน กฝผ. และเพิ่มหนี้ กฟผ. อีกตามเคย
เผลอๆ จะเรียกแขกให้งานเข้าลากเอา ครม.ทั้งชุดเข้าปิ้งไปด้วย หากถูกบริษัทเอกชนลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวฟ้องเอา!