
“แลนด์บริดจ์” หายเข้ากลีบเมฆ เพราะทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคมที่ชื่อสุริยะ ยังไม่เคยมีการพูดถึงโครงการนี้กันเลยสักครั้ง ราวกับว่า ไม่เคยมีโครงการแลนด์บริดจ์นี้มาก่อนแต่อย่างใด?
..
สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คมนาคม ที่ชื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กระเตงโครงการนี้ไปโรดโชว์ต่างประเทศราวกับจะเปิดประมูลวันนี้ พรุ่งนี้กันซะให้ได้..
แม้นักวิชาการและชาวบ้านร้านรวงในพื้นที่จะออกโรงทักท้วงอย่างไรก็ไม่เป็นผล รัฐบาลเศรษฐาลุยไฟโครงการแลนด์บริดจ์ชนิดที่เรียกว่า ทุกลมหายใจมีแต่แลนด์บริดจ์เท่านั้น

บทนายกฯ เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งไป เมื่อ "คุณหนูอิ๊งของบ่าว" มารับไม้ต่อ โครงการแลนด์บริดจ์ที่เคยเป็น "เรือธง" ของรัฐบาลเพื่อไทยกลับ "หายเข้ากลีบเมฆ"
ทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคม ที่ชื่อสุริยะ ยังไม่เคยมีการพูดถึงโครงการนี้กันเลยสักครั้ง ราวกับว่า ไม่เคยมีโครงการแลนด์บริดจ์นี้มาก่อนแต่อย่างใด?
อะไรมันจะกลับตาลปัตรกันได้ขนาดนี้!

แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือเรากำลังรอ “ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง”?
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โพสต์ระบุว่า..

“แลนด์บริดจ์” คำสั้นๆ ที่ฟังดูยิ่งใหญ่ ราวกับจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ของการขนส่งโลก พลิกแผ่นดินภาคใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับสากล ขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียไปสู่แปซิฟิกโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู่ภาคใต้ของไทย
นับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อหลายปีก่อน “แลนด์บริดจ์ระนอง–ชุมพร” เป็นหนึ่งใน “เมกะโปรเจกต์” ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เราได้รับฟังคำอธิบายถึงศักยภาพมหาศาลของแลนด์บริดจ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
รัฐบาลคุยว่า มี “นักลงทุนต่างชาติหลายราย” แสดงความสนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงการในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) ว่าแต่...ใครคือ “นักลงทุนต่างชาติหลายราย” ที่ว่า? หรือว่าคำว่า “สนใจ” ที่รัฐบาลใช้ หมายถึงเพียงแค่มีต่างชาติเข้ามาดูพาวเวอร์พอยต์ แล้วบอกว่า "อืม ก็น่าสนใจดี?”
ถึงวันนี้ คำถามที่สังคมต้องการคำตอบอย่างจริงจังคือ “โครงการคืบหน้าไปถึงไหน?” จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้หรือไม่? กล่าวคือรัฐบาลประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2568 และมีกำหนดเริ่มก่อสร้างเฟสแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2569 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปลายปี 2573
แผนดูทะเยอทะยาน และเต็มไปด้วยคำสัญญา แต่คำถามสำคัญคือ เราจะเดินไปถึงตรงนั้นได้จริงหรือไม่?

แลนด์บริดจ์ไม่ควรเป็นเพียงวาทกรรม เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค หากทำได้ มันคือหมุดหมายใหม่ของความเจริญ แต่หากทำไม่ได้ มันอาจเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า ประเทศไทยยังไม่หลุดพ้นจากกับดักแห่งวาทกรรม
ในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องการทั้ง “วิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน” และ “การดำเนินงานที่มีความต่อเนื่อง” มิฉะนั้น จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งของประชาชน และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะต้องให้คำตอบอย่างจริงใจ และนำพาแลนด์บริดจ์ “ระนอง–ชุมพร” ออกจากแผ่นกระดาษสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมเสียที?