
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ภคมน ลิซ่า หนุนอนันต์” สส.พรรคประชาชน โพสต์ระบุว่า..

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองฝุ่นตลบ ข่าวสารแต่ละวันไหลเร็วเหลือเกิน อีกหนึ่งข่าวที่เกิดขึ้น และมองข้ามไม่ได้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา วุฒิสภาได้ผ่านการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. หรือที่เรียกกันว่า "ซุปเปอร์บอร์ด" นับว่าเป็นการเปิดฉากละครเรื่องใหม่ที่น่ากังขาที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการกำกับดูแลของไทย
ซุปเปอร์บอร์ดคืออะไร : กฎหมาย กสทช.ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2564 ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 70/1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ” เรียกกันง่ายๆ ว่า กตป. ทำหน้าที่ตรวจสอบ จับตา และประเมินผลการทำงานของบอร์ด กสทช. ชุดใหญ่ เพื่อให้การใช้อำนาจและทรัพยากรคลื่นความถี่นับแสนล้านบาทเป็นไปอย่างโปร่งใสและเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ถ้าตามเจตนารมย์ของกฎหมายก็ดูดี แต่เมื่อพิจารณา “รายชื่อที่ผ่านการคัดเลือก” จะพบว่าครึ่งนึงเป็น "ลูกหม้อ" หรืออดีตบุคลากรของสำนักงาน กสทช. มากถึง 3 จาก 5 คน นั้น ไม่ได้สะท้อนแค่ปัญหาตัวบุคคล แต่เป็นการเปิดโปงรากเหง้าเชิงโครงสร้างของปัญหาเรื่อง "การตรวจสอบโดยพวกเดียวกัน" อันเป็นภัยเงียบที่กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาลและเจตนารมณ์ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
รายชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง
นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา - เคยดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานประจำในสำนักงาน กสทช.
น.ส. อิสรารัศมิ์ เครือหงส์ - เคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการให้กับกรรมการ กสทช. ในชุดก่อน
พล.อ. สิทธิชัย มากกุญชร - เป็นอดีตผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
นางอุรุา วีสกุล - นักวิชาการที่เคยรับจ้างเป็นที่ปรึกษาให้กับ กสทช. หลายโครงการ
พล.ต.ต. เอกธนัช ลิ้มสังกาศ - แม้ไม่ได้อยู่ใน กสทช. โดยตรง แต่ก็เป็นข้าราชการฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมักเชื่อมโยงกับฝ่ายกำกับนโยบายโทรคมนาคมอยู่แล้ว
รายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึง "เครือข่ายวงจรอุปถัมภ์" ที่เป็นการจัดฉากให้ "คนใน" มาตรวจสอบ "คนกันเอง" แทนที่จะมุ่งเน้นการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายและโดดเด่นจากภายนอก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่ได้นำไปสู่การตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ควรจะเป็น

ปรากฏการณ์ "ลูกหม้อตรวจสอบองค์กรแม่" นี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ กสทช. แต่เป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบธรรมาภิบาลของประเทศโดยรวม เมื่อกลไกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกลับอ่อนแอและถูกครอบงำโดย "พวกพ้อง" ความหวังที่จะเห็นองค์กรอิสระทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริงก็เป็นไปได้ยาก
ดังนั้น แม้วุฒิสภาจะทำหน้าที่ลงมติไปตามกระบวนการ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาได้ทิ้งคำถามสำคัญไว้ให้สังคมและจับตามองต่อไปว่า "ซูเปอร์บอร์ด" ชุดนี้ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างสมศักดิ์ศรีและเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงอีกหนึ่งกลไกที่ตอกย้ำวัฒนธรรมเดิมๆ และทำให้การปฏิรูป กสทช. ที่หลายฝ่ายเรียกร้อง กลายเป็นเรื่องที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย
ถามประชาชนคนทั่วไปวันนี้ มีใครเชื่อบ้างว่า ซุปเปอร์บอร์ดลูกหม้อชุดนี้จะตรวจสอบนายเก่าอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน
นับจากนี้ไป ดิฉันคิดว่าการดำเนินงานของกสทช.ยิ่งจะเป็นอิสระกับประชาชนไปกันใหญ่ ประชาชนอย่างเราๆ คงได้แต่เตรียมตัวรับแรงกระแทก การทำงานของ กสทช. จะยิ่ง "เป็นอิสระจากประชาชน" มากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
**คุณสมบัติประธาน กสทช. ที่ถูกครหา? ก็จะถูกฟอกขาว ตีมึนต่อไป
**การประมูลคลื่นความถี่ที่ตั้งราคาต่ำเตี้ยจนน่าสงสัย? ก็จะถูกทำให้ชอบด้วยเหตุผล เสียงทักท้วงของประชาชน? ก็จะกลายเป็นเพียงเสียงนกเสียงกา
**การใช้จ่ายงบประมาณในกองทุน กทปส. และกองทุน USO กระเป๋าตังขนาดใหญ่ของ กสทช.
จากนี้ไปอนาคตของ กสทช. ไม่ใช่แค่หลุมดำอีกต่อไป แต่มันกำลังจะกลายเป็น "อุโมงค์มืด"
การปฏิรูป กสทช. จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ 60 และโครงสร้างอำนาจปัจจุบัน ดังนั้นทางออกเดียวคือ ต้องผลักดันควบคู่ไปกับวาระการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน เพราะนี่คือโอกาสเดียวที่จะ "รีเซ็ต" ระบบทั้งหมด และสร้างองค์กรกำกับดูแลที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รับใช้อำนาจและทุนแบบนี้