
สถานการณ์เศรษฐกิจดิ่งเหวแบบนี้ ก็เหลือแต่ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้นที่ยังพอจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลพวงจากการประมูลคลื่นความถี่ล่าสุดที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นไป ที่คงจะทำให้ 2 ค่ายสื่อสารที่ได้รับจัดสสรคลื่นไปน่าจะมีการลงทุนขยายโครงข่ายสื่อสาร 4-5 จีต่อเนื่องไปอีกนับแสนล้านบาทตามมา ตามเงื่อนไขตามประกาศ กสทช. ไม่สามารถจะกอดคลื่นความถี่เอาไว้ดูเล่นๆอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
…
แม้สภาองค์กรของผู้บริโภค และใครต่อใครจะออกโรงแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ใน 4 ย่านความถี่ที่ประกอบด้วยคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตส์ (MHz) , คลื่น 1500 MHz , 2100 MHz และคลื่น 2300 MHz โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของเครือข่าย

โดยระบุว่า การประมูลคลื่นดังกล่าวขาดความเป็นธรรม ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ราคาขั้นต่ำของคลื่นที่คณะทำงาน และ กสทช. กำหนด ทั้งคลื่น 2100 MHz และคลื่น 2300 MHz เป็นราคาที่อ้างอิงรายงานการศึกษาเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ทำให้ราคาขั้นต่ำของคลื่นที่นำออกประมูลในประกาศ กสทช. ลดลงไปจากราคาประเมินราว 30% เปิดทางให้กลุ่มทุนสื่อสารได้คลื่นไปครอบครองในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
อีกทั้งยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เพราะมีผู้เข้าประมูลเพียง 2 รายเท่านั้น คือ AIS และ TRUE ทำให้ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมเข้าสู่ตลาด "กึ่งผูกขาด" Duopoly ที่ประชาชนผู้ใช้บริการไร้ทางเลือกไปโดยปริยาย
แม้จะมีกระแสทักท้วงอย่างไร ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เห็นชอบผลการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ที่ว่าไปแล้ว โดยผลประมูลคลื่นที่ได้นั้น ค่าย AIS ชนะประมูลคลื่น 2100MHz จำนวน 3 บล็อกๆ ละ 10MHz รวม 30 MHz ในราคาบล็อกละ 4,950 ล้าน คิดเป็นมูลค่ารวม 14,950 ล้านบาท
ขณะที่ TRUE ชนะประมูลคลื่น 1500MHz จำนวน 4 บล็อก ๆ ละ 1,160 ล้านบาท และคลื่น 2300MHz จำนวน 7 บล็อก ๆ ละ 10 MHz ที่ราคาบล็อกละ 3,110 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมด 26,420 ล้านบาท ส่วนคลื่น 700 MHz ไม่มีผู้ประมูล

ไม่ว่าจะมีกระแสทักท้วงกันอย่างไร แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังตกต่ำดำดิ่งจนถึงงขีดสุดในเวลานี้ จากผลพวงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่เคยเป็นตลาดหลัก จนกลายมาเป็น "วิวาทะ" ระหว่าง "เสี่ยหนู" นายอนุทิน ชาญวีรกุล อดีตรองนายกฯ และรมต.มหาดไทย ที่เพิ่งจะนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กระโดดลงจากรัฐนาวาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปไม่ถึงขวบเดือน
ไหนจะการส่งออกที่กำลังเผชิญทางตันจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่โดนพิษ "ภาษีทรัมป์" เล่นงานจนสะเทือนเลือนลั่นโลก ทุกประเทศต่างเกิดความระส่ำไม่แพ้กัน ขณะที่ประเทศไทยนั้นแทบจะเรียกได้ว่า "ช็อกตาตั้ง" หลังโดนมหามิตรมะกันเรียกเก็บภาษี 36% สูงสุดในภูมิภาค ทำเอาภาคส่งออกของไทยไปไม่เป็น ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ จ่อจะต้องพับฐาน สูญเสียตลาดไปนับแสนล้าน หรืออาจทะลักถึง 5-6 แสนล้าน

มองไปยังตลาดการค้าชายแดนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ผลพวงจากปัญหาพิพาทชายแดนไทย - กัมพูชา ที่ช่องบกที่ลามเลียจนกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างกันในที่สุดโดยมีแนวโน้นที่วิวาทะที่ "บ้านพี่-เมืองน้องไทย-กัมพูชา" จะหันหลังให้กันชนิดไม่เผาผี ตลาดการค้าเคยมีปีละกว่า 3.5 แสนล้าน จ่อจะหายวับไปทั้งหมด

ด้านตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศก็ตกต่ำ จนแทบจะไม่เหลือสินค้าตัวใดออกมากอบกู้ชื่อได้อีก เศรษฐกิจไทยยามนี้ มองไปทางไหนจึงแทบไม่มีทางออก
ก็เหลือแต่ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้นที่ยังพอจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลพวงจากการประมูลคลื่นความถี่ล่าสุดที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นไป ที่คงจะทำให้ 2 ค่ายสื่อสารที่ได้รับจัดสสรคลื่นไปน่าจะมีการลงทุนขยายโครงข่ายสื่อสาร 4-5 จีต่อเนื่องไปอีกนับแสนล้านบาทตามมา ตามเงื่อนไขตามประกาศ กสทช. ไม่สามารถจะกอดคลื่นความถี่เอาไว้ดูเล่นๆ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ

กับเหตุผลเพียงแค่เรื่องราคาขั้นต้นของคลื่นความถี่ ตามประกาศ กสทช. ที่ว่า ไม่สะท้อนความเป็นจริงตามตลาด บางฝ่ายมองว่าราคาขั้นต้นที่กำหนดต่ำเกินไป ขณะบางฝ่ายกลับมองสูงเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่แม้แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ อย่าง บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ยังไม่กล้าเข้าร่วมประมูล เพราะหากประมูลได้คลื่นไปแล้วไม่มีเงินลงทุนเครือข่าย ก็อาจเรียกแขกให้งานเข้าถูกลงโทษเอาได้
เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก แม้คลื่นความถี่จะเป็นทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การตั้งแง่แต่ในเรื่องราคาแล้วคิดแต่จะกอดคลื่นหรือดองเค็มเอาไว้เฉยๆ มันก็ไม่สามารถจะสร้าง Value Added อะไรให้ประเทศได้
ก็เหมือนคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ กสทช. เพิ่งจัดประมูลไป แต่ไม่มีบริษัทสื่อสารรายใดประมูลไปเลยนั้น กสทช. คงต้องหาทางจัดสรรคลื่นดังกล่าวออกไปให้ได้
หามิฉะนั้นมันจะกลายเป็นแค่เศษกระดาษที่ไม่มีค่าอะไรเลย จริงไม่จริง!!!!