เจอสารพัดปัญหา เนื่องมาจากความไม่พร้อมเกี่ยวกับการทดลองการเรียน-การสอนทางออนไลน์ของกระทรวงศึกษา ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากประเทศไทยเจอวิกฤติไวรัสโควิด-19 จนต้องเลื่อนเปิดเทอมของนักเรียน-นักศึกษา ล่าช้าออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.63
จึงมีการทดลองการเรียน-การสอนทางออนไลน์ในวันที่ 18 พ.ค.63 เป็นวันแรก ปรากฏว่าสร้างความปั่นป่วนไปทั่วประเทศ เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ไม่พร้อมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือยังเป็นระบบเก่า โทรทัศน์ยังเป็นระบบเก่า เครื่องเก่า
ไหนจะเจอปัญหาสัญญาณโทรทัศน์ล่ม! สัญญาณอินเทอร์เน็ตล่ม!
สัญญาณอินเทอร์เน็ตบางพื้นที่ขาดๆ หายๆ ไม่เสถียร เพราะคนใช้เยอะ ไม่ต้องพูดถึงในหมู่บ้านห่างไกล ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ยังมี
สรุปภาพรวมวันแรกเด็กไทย โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดและชนบทห่างไกลยังไม่พร้อมที่จะเรียนในระบบออนไลน์ ไม่ต้องไปไกลมาก มีตัวอย่างที่ชุมชน กม.3 เทศบาลเมืองอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีเด็กนักเรียนชั้น ม.ปลาย และนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา จ.สระแก้ว บ่นว่า มีปัญหามากหลังจากพยายามเข้าเรียนหนังสือทางออนไลน์ไม่ได้ เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีพอ โทรศัพท์มือถือยังเป็นรุ่นเก่า ไม่รองรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่างๆ ได้ดีพอ
เนื่องจากมีคนอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก จึงใช้อินเทอร์เน็ตมากด้วย ทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร เป็นอุปสรรคในการเรียนแบบออนไลน์
จากปัญหาดังกล่าวทำให้หลายๆ คน คิดถึงโครงการแจก “แท็ปเล็ต” ให้นักเรียนทั่วประเทศในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ถูกรัฐประหาร ไม่ถูกล้มเลิกโครงการนี้ไป จะไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมากมาย เกิดขึ้นในวงการการศึกษาไทย ระหว่างลูกหลานคนรวย กับลูกหลานชาวบ้านตามชนบท
เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น ไม่ได้คิดที่จะแจกแท็ปเล็ตอย่างเดียว แต่มีแผนการนำเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล-ประมูลคลื่นโทรศัพท์ 3-4-5จี มาทำโครงการฟรี! อินเทอร์เน็ตตามสถานที่ราชการ และชุมชนห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและชาวบ้านต่างจังหวัด หรือชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และกว้างขวางมากขึ้น
แต่หลังจาก “รัฐประหาร” เมื่อเดือน พ.ค. 57 มีอะไรพัฒนาขึ้นมาบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เน็ตประชารัฐ - เน็ตชายขอบ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผลงานมันฟ้องว่า “ไม่ได้เรื่อง” ในวันแรก (18 พ.ค.) ที่ทดลองการเรียน-การสอนในระบบออนไลน์ นี่แหล่ะ!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลายพื้นที่ ว่าไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้
ทั้งๆ ที่รัฐบาลลงทุนในโครงการดังกล่าวไปด้วยงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนที่เข้าไม่ถึงการใช้งาน
โดยเน็ตประชารัฐที่มีปัญหาร้องเรียน คือ โครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ จ้างบริษัท ทีโอทีฯ ดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น 24,700 หมู่บ้าน ตกจุดละ 5 แสนกว่าบาท ประกอบด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อเข้ากับบ้านเรือน และเเบบฟรี ไวไฟ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น นอกจากโครงการจะใช้งบประมาณสูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังพบว่าฟรี ไวไฟ ที่ติดตามหมู่บ้าน เชื่อมต่อไม่ค่อยได้ สัญญาณอ่อนมาก บางพื้นที่ติดตั้งในสถานที่ไม่อำนวย หากอยู่ห่างจากจุดติดตั้งสัญญาณ 20-50 เมตร แต่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อเข้ากับบ้านเรือน มีราคาสูงและมีเงื่อนไขผูกพันนานเกินไป โดยบริษัท ทีโอทีฯ ผูกขาดเพียงรายเดียว ประชาชนต้องจ่ายเงินค่าเช่าแพงกว่า “เน็ตชายขอบ” ที่ดำเนินการโดย กสทช. เกือบ 2 เท่าตัว
ดังนั้น การให้บริการดังกล่าว จึงไม่ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่โฆษณาว่า รัฐบาลจะให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม!
โดย..เสือออนไลน์