เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 55 ชื่อของนายวรสิทธิ์ หรือ“ปลาวาฬ” อิสสระ" ไฮโซทายาทตระกูลดังนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเป็นลูกชายของนายสงกรานต์ นางศรีวรา อิสสระ ประธานกรรมการบริหารศรีพันวากรุ๊ป และเป็นหลานชายของนายชาญ อิสสระ เจ้าของตึกชาญอิสสระย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อสื่อมวลชนแขนงต่างๆ พากันเล่นข่าวใหญ่
เนื่องจาก “ปลาวาฬ” ถูกกลุ่มพนักงาน-การ์ดประจำผับแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต รุมยำจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียูโรงพยาบาลที่ภูเก็ต ท่ามกลางตำรวจมาคอยดูแลความสงบเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ผวจ.ภูเก็ต กล่าวสั่งปิดสถานบันเทิงแห่งนี้ไป 90 วัน ด้วยเหตุผลเจ้าของ-ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมสถานประกอบการให้สงบเรียบร้อยได้
การบาดเจ็บครั้งนั้น ทำให้ผู้คนในสังคมไทยรู้ว่า “ปลาวาฬ” นี่ไม่ธรรมดานะ เพราะมีกระเช้าเยี่ยมจากคนใหญ่คนโตในประเทศ แล้วมักจะมีภาพหลุดออกมาบ่อยๆ ว่า คนที่ไปใช้บริการในศรีพันวา ล้วนแต่ไม่ใช่คนธรรมดาทั้งสิ้น
จนกระทั่งวันที่ 21 ก.ย.63 สังคมออนไลน์ระดมติดแฮชแท็ก #แบนศรีพันวา ทะยานขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ หลังจากนายวรสิทธิ์ หรือ “ปลาวาฬ” ไฮโซทายาทตระกูลดัง เจ้าของรีสอร์ทหรูเริ่ด! ระดับ 6 ดาว “ศรีพันวา” จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บนเวทีปราศรัยม็อบสนามหลวง ลงในไอจีของตัวเอง พร้อมเขียนข้อความต่อว่ารุนแรงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลประมาณว่า “อะไรเนี่ย ต้องหยุดได้แล้ว เธอมันไม่ใช่คนไทย เธอทำงานให้ใครเหรอ ? คนพวกนี้ต้องติดคุก เธอบังอาจมากนะ”
ต่อมามีทัวร์ลงหนักไปกว่านั้นอีก เมื่อชาวโลกออนไลน์เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ “ศรีพันวา” คือ สำนักงานประกันสังคม มีจำนวนหุ้น 63,072,615 หุ้น (22.60%) รองลงเป็นบริษัทชาญอิสสระ 54,390,157 หุ้น (19.49%) และอันดับ 3 คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ ออกมายืนยันอีกว่า ไม่ได้สนใจกลุ่มชาวเน็ตที่ออกมาแบนรีสอร์ทของตน เพราะชาวเน็ตเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มลูกค้า พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ถ้าประเทศไทยมีคน 10 ล้านคน ตนถูกนักเลงคีย์บอร์ดด่าทอ 1,000 กว่าข้อความ แต่ได้รับข้อความกำลังใจ 4,000 กว่าข้อความ โรงแรมไม่ได้รับผลกระทบอะไร มีแต่พวกนักเลงคีย์บอร์ดที่ออกมาแบน และส่วนใหญ่เป็นบัญชีผู้ใช้ปลอม
วันต่อมามีทั้ง “ทัวร์ลง” และ “งานเข้า” ที่ศรีพันวา เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นหนังสือถึงนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์การอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบสำนักงานประกันสังคม กรณีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรม-รีสอร์ทศรีพันวา จ.ภูเก็ต เป็นไปโดยชอบหรือไม่
เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า สำนักงานประกันสังคมลงทุนในโรงแรมดังกล่าว 22.60% รวมเป็นจำนวน 63,072,615 หุ้น ราคา IPO คือ 10.80 บาท ขณะที่การลงทุนของสำนักงานประกันสังคม คือ 11 บาท แต่ราคาตลาดปิดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.63 คือ 7.90 บาท ถือว่าขาดทุนอย่างมาก และผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ โดยเฉพาะมีโฉนดหรือไม่ และมีที่มาที่ไปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เช่นเดียวกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ยังเกาะติดกระแส ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประมาณว่า อยากไปพักผ่อนจัง โรงแรมอะไรเนี่ยสวยจริงๆ ราคาช่วงนี้น่าจะถูกนะเพราะโควิด-19 ไม่รู้จะมีวาสนาไปพักผ่อนไหม เอ...สงสัยจังว่า ที่ดินภูเก็ต เขาออกโฉนดบนภูเขาได้หรือเปล่า ต้องไปถาม ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ดูระเบียบ เห็นสูงชันจัง อาจจะออกได้นะจาก สค.1 มาเป็นโฉนด แต่อย่าบินนะ!!! ว่าจะขอภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังสัก 80 ปี ว่ามีการทำกินไหมเมื่อใด
ผสมโรงด้วยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยว่าวันที่ 25 ก.ย. 63 จะไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบกรณีที่ดินโรงแรมศรีพันวา จ.ภูเก็ต เพราะกรณีที่ดินโรงแรมศรีพันวามีหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบเรื่องที่ดินต้องมีหลักฐานมาแสดง เพราะเชื่อว่าเอกสารสิทธิน่าจะออกโดยมิชอบ ที่สำคัญการก่อสร้างอยู่บนภูเขา อนุญาตกันอย่างไร ใครอนุญาต เพราะพื้นที่มีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่น่าจะเป็นต้นไม้ตามธรรมชาติ จะมาบอกว่าไม่มีสภาพป่าไม่ได้
อีกทั้งความลาดชันน่าจะเกิน 35 องศาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบ แต่ไม่จำเป็นต้องไปร้องที่กรมป่าไม้ เพราะดีเอสไอสามารถเรียกดูเอกสารได้
ตบท้ายด้วย นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนและคณะกรรมาธิการฯ จะเข้าไปตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ 1. ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าหรือไม่ เพราะมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน 2. การออกเอกสารสิทธิ์มีขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่น่าจะเป็นพื้นที่ๆ เคยทำเกษตรกรรมหรือครอบครองมาในระยะยาว
ถ้าหากเป็นพื้นที่ป่าแล้วเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ใช้ พ.ร.บ.ใดดูแล และหากเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่มาเอกสารสิทธิ์น่าจะต้องออกมาจาก ส.ค.1 และต้องไปดูว่ามีที่มาถูกต้องหรือไม่ 3. การใช้พื้นที่ชายหาดและบริเวณโดยรอบของโรงแรมศรีพันวา ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งเราทราบจากประชาชนว่าไม่ได้สามารถเข้าไปชายหาดได้ โดยโรงแรมอ้างว่าเป็นหาดส่วนตัว ทั้งที่พื้นที่นั้นมีประชาชนและชนเผ่าอยู่อาศัยมาตั้งแต่โบราณ แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ชายหาด
เรื่องนี้รัฐต้องบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความเท่าเทียมต่อคนทุกกลุ่ม ทั้งนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ผวจ.ภูเก็ต กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสืบหาข้อเท็จจริงในวันที่ 1 ต.ค.63
“เสือออนไลน์” สอบถามความเห็นพรรคพวกที่เป็น “หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ” ให้ข้อมูลว่า ดูจากสภาพพื้นที่แวดล้อมบริเวณ “ศรีพันวา” น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และถ้าดูจากรูปภาพตรงนั้นไม่น่าออกโฉนดได้ แต่จะเป็นโฉนดบิน น.ส.3 บิน หรือ ส.ค.1 บินมา หรือเปล่าไม่รู้ แต่กรณีดังกล่าวแค่ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ก็รู้แล้วว่าตั้งรีสอร์ทในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทางด้านนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ได้สะกิดให้หัวหน้าชุด “พยัคฆ์ไพร” กรมป่าไม้ ลงตรวจสอบแล้ว เพราะกรณีดังกล่าวได้ใช่เรื่องลำบากในการตรวจสอบ เพียงแต่ “ปลาวาฬ” อาจจะ “เส้นใหญ่” หน่อยก็เท่านั้นเอง
โดยงานนี้จะกลายเป็น ”หนังม้วนยาว” อย่างแน่นอน แล้วตอนจบจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แต่ ณ ปัจจุบันพอจะสรุปตามตำราได้ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก..ปลาวาฬเกยตื้น”
โดย...เสือออนไลน์