นักธุรกิจ นักการเงินการธนาคาร พูดตรงกันว่าความหวังของประเทศไทยอยู่ที่ “วัคซีน” ป้องกันโควิด-19
ถ้าการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า แถมไม่มีวัคซีน จะยิ่งลำบากไปกันใหญ่ เพราะจากข้อมูลเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.64 คนไทยเพิ่งได้รับวัคซีนเพียง 7,219,668 โดส เท่านั้น แล้วเมื่อไหร่? จะถึง 100 ล้านโดส และฉีดได้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผอ.ศบค. คุยฟุ้งเอาไว้
ยิ่งเห็นข้อมูลคนฉีดวัคซีนเข็มแรกในช่วงวันที่ 7-8-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา แล้วได้รับนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ช่วงปลายเดือน ก.ย. - ต.ค.64 นั่นหมายความว่า วัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 3 เดือนครึ่ง – 4 เดือน นี่คือความชัดเจนว่ารัฐบาลไม่มีวัคซีน หรือวัคซีนขาดแคลนนั่นเอง
ส่วนกรณีมีข่าวว่า วัคซีนกำลังทยอยเข้ามาประเทศไทย ครั้งละ 5 แสนโดส – 1 ล้านโดส ถามว่ามาแค่นี้แล้วเมื่อไหร่จะพอ และฉีดได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง?
เมื่อสภาพการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลยังเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ จึงเลิกพูดไปเลยเรื่องการนำร่อง “เปิดประเทศ” เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาที่ จ.ภูเก็ต
เนื่องจากการนับถอยหลัง 120 วัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปๆ มาๆ ชักไม่แน่ใจ และไม่ชัดเจนว่า อีก 4 เดือน คือประมาณปลายเดือน ต.ค.- ต้นเดือน พ.ย. จะกล้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หรือไม่ ถ้าปัญหาการฉีดวัคซีนภายในประเทศไทยยังเป็นแบบนี้ ไหนจะปัญหาเชื้อโรคกลายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ
ดังนั้นนโยบาย 120 วัน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มเป๋! ยังเปลี่ยนเงื่อนไขและรายละเอียดไปมา จึงยังไม่นิ่ง ด้วยปัจจัยสำคัญเรื่องเชื้อโรคกลายพันธุ์นี่แหล่ะ เพราะถ้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามา แล้วเกิดโควิดระบาดเป็นรอบที่ 4 ขึ้นมาอีก จะยิ่งลำบากกันไปใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อยังยืนอยู่ที่วันละ 2,000-3,000 คน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคในแต่ละวันยังสูงอยู่ และวัคซีนก็ขาดแคลน ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
ไม่ต้องพูดถึงคนระดับกลาง ลงมาถึงระดับล่าง ตอนนี้อยู่ในสภาพยากจนและลำบากเหมือนกันหมด ในขณะที่คนพอมีเงินเมื่อเจอสภาพแบบนี้จะยิ่งประหยัด ใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และคงไม่มีใครควักเงินออกมาลงทุนกันอยู่แล้ว
ในส่วนของคนระดับกลาง ลงมาระดับล่าง สะท้อนภาพชัดมากขึ้นในโครงการ “คนละครึ่ง เฟส 3” ของรัฐบาล ที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.64 เพื่อรับเงินไปใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง อีกคนละ 3,000 บาท แต่แบ่งจ่ายเป็น 2 รอบๆ ละ 3 เดือน รอบละ 1,500 บาท เริ่มตั้งวันที่ 1 ก.ค. - 31 ธ.ค.64 โดยตั้งเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ์ไว้ 31 ล้านคน
ถ้ารัฐบาลแจกเงินเหมือนโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน เชื่อว่า จะมีคนลงทะเบียนเต็มจำนวน 31 ล้านคนไปหลายวันแล้ว
แต่นี่แสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังจนกรอบ! การลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จึงเป็นไปแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เพราะจนถึงวันที่ 20 มิ.ย.64 ยังเหลือสิทธิ์ที่สามารถลงทะเบียนได้อีกกว่า 3.2 ล้านคน
แสดงว่า คนที่จะลงทะเบียนรับคนละครึ่งเที่ยวนี้ก็คิดหนักเหมือนกัน เพราะถ้าจะได้รับเงินจากรัฐเพื่อนำไปจับจ่าย 150 บาท/วัน เขาก็ต้องมีเงินในกระเป๋าวันละ 150 บาทด้วยเหมือนกัน แถมต้องไปจับจ่ายกับร้านที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
วันนี้คนที่มีเงินติดกระเป๋าไม่ถึงวันละ 100-150 บาท จึงต้องคิดหลายตลบว่าจะลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 3 ดีหรือไม่ดี? และตัวเองพร้อมหรือเปล่าที่จะมีเงินในกระเป๋าไว้ “ต่อเงิน” ที่จะได้รับจากรัฐบาล
คือรัฐบาลใส่เงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง มาให้ใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ รอบละ 1,500 บาท (3 เดือน) จำนวน 2 รอบ จนครบ 3,000 บาท
พูดง่ายๆ ว่าขนาดโครงการประเภท “เงินต่อเงิน” แท้ๆ คนไทยยังคิดกันหนัก! แสดงว่า ยากจนกันทั่วหน้าจริงๆ ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่เคยพูดไว้ หลังจากทำรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค.57 ว่า “บริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหน”
เสือออนไลน์