เจอแรงต้านทั่วทุกทิศแน่ๆ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปล่อยให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ผลักดันพ.ร.ก.นิรโทษกรรมกันแบบเหมาเข่ง สำหรับคนที่บริหารจัดการโควิด-19 และคนจัดหาวัคซีนที่ผิดพลาดออกมา
ไม่รู้ว่าจะรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปทำไม? ในเมื่อคนไทยทั่วประเทศเพิ่งได้ฉีดวัคซีนแค่ 20.66 ล้านโดส (28 ก.พ.- 8 ส.ค.64) พูดง่ายๆ ว่ายังห่างไกลเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 100 ล้านโดสภายในปี 64
ยังห่างไกลจากความจริงกับคำพูดของนายอนุทินที่เคยอภิปรายไว้ในการประชุมสภาฯ ว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีวัคซีนเต็มโรงพยาบาล มีวัคซีนเต็มแขนพี่น้องคนไทย
ไหนล่ะ? วัคซีนมีเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนคนไทยตามที่นายอนุทินคุยฟุ้งเอาไว้ เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้มีแต่วัคซีนที่ได้รับจากการ“บริจาค” ทั้งไฟเซอร์จากอเมริกา แอสตร้าเซนเนก้าจากญี่ปุ่น และอังกฤษ
ไหนล่ะ? วัคซีนดีๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัดหามาให้คนไทย หันไปหันมามีแต่ “ซิโนแวค” ซึ่งชาวบ้านไม่อยากฉีด แพทย์-พยาบาลฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม แต่ตอนนี้ร้องหาไฟเซอร์-โมเดอร์น่า กันทั้งนั้น หรือแม้ทหารก็อยากได้ไฟเซอร์ ฉีดแล้วโพสต์โชว์ด้วย
“เสือออนไลน์” เชื่อ 100 % ว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ติดใจการทำงานของแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลทั่วไป หรือตามโรงพยาบาลสนาม เพราะรู้ดีว่าแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน และอาสาสมัครทำงานกันหนักอยู่แล้ว
แต่ที่คนไทยส่วนใหญ่ติดใจกันมาก คือ การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์-นายอนุทิน-อธิบดีกรมควบคุมโรค-เลขาฯ อย. - ผอ.องค์การเภสัชกรรม และทีมแพทย์ที่อยู่รอบตัวนายกฯ
ติดใจมากๆ ว่า..
1. รัฐบาลทำให้ประเทศไทยตกขบวนโครงการโคแวกซ์ ทำให้คนไทยไม่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง ทันกับสถานการณ์แพร่ระบาด
2. รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เลือกซื้อวัคซีนแค่ 2 ตัว คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนตัวแรกคนไทยจำนวนมากไม่ยอมรับในประสิทธิภาพ ส่วนวัคซีนตัวที่ 2 มีปัญหาในการจัดส่ง
3. ดู “ไทมไลน์” การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 17 พ.ย.63 เห็นชอบจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ด้วยงบกลาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมา 2,379.43 ล้านบาท
ต่อมา 5 ม.ค.64 ครม.อนุมัติงบกลางอีก 2,150.38 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนซีโนแวค 2 ล้านโดส
ต่อจากนั้นวันที่ 2 มี.ค.64 นายอนุทินทำหนังสือถึงเข้า ครม. ขอสนับสนุนงบกลาง 6,387,285,900 บาท เพื่อจัดหาวัคซีน 35 ล้านโดส และครม.ได้อนุมัติ แต่ได้ย้ำให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19
รวมทั้งกำกับติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพสูงสุด
คำถามคือ ปัจจุบันการจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วหรือยัง?
ดังนั้น ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมา จึงมี 2 หน่วยงาน คือ “ทีดีอาร์ไอ” ออกมากระทุ้งรัฐบาลว่า ควบคุมการระบาดโควิดและบริหารวัคซีนผิดพลาด งานนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ!
รวมทั้ง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ครอบคลุมทั่วถึง ทันเวลาการแพร่ระบาด และควรเร่งกระจายวัคซีนทางเลือกด้วย
4. ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ดังนั้นตอนนี้ไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนบางส่วนต้องเสียเงินจ่ายค่าวัคซีนมาฉีดให้ตัวเอง-คนในครอบครัว-เพื่อนร่วมงาน
นี่ยังไม่รวมปัญหาเตียงขาดแคลน ผู้คนที่ติดเชื้อโควิดต้องนอนรักษาตัวอยู่ในบ้าน หลายสิบครอบครัวกลายเป็น “คลัสเตอร์” ติดเชื้อโควิดกันเองภายในบ้าน บ้างก็ต้องตายในบ้าน ตายบนฟุตบาท ตายในรถยนต์ และนอนตายบนถนนอีกหลายศพ
การบริหารจัดการโควิดและจัดหาวัคซีนที่ล้มเหลวแบบนี้ อย่าเอาแพทย์-พยาบาลมาบังหน้า! เพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเลย พล.อ. ประยุทธ์ และนายอนุทิน!
เสือออนไลน์