วันนี้ขอกล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นในเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) หลังจากมีการเลื่อนชี้ขาดการตัดสินของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.64 มาเป็นวันที่ 31 ม.ค.65 สุดท้ายเลื่อนการตัดสินออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ไม่ว่าจะเลื่อนออกไปนานแค่ไหน ถึงอย่างไรรัฐบาลไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และคงต้องจ่ายค่าเสียหายประมาณ 24,772 ล้านบาท ให้กับคิงส์เกต ซึ่งตอนนี้ฝ่ายคิงส์เกตถือแต้มต่อ! จะร้องขออะไรก็ได้หมด โดยหลังสุดคือขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลไทยต้องวิ่งกันพล่าน! เพื่อตรวจสอบว่าสำนวนคดีดังกล่าวเดินไปถึงชั้นอัยการ-ศาล หรือยัง?
แล้วถ้าจะให้เหมืองกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ต้องมีค่าซ่อมแซมบำรุงรักษารถบรรทุก เครื่องจักร โรงงาน ฯลฯ ที่ถูกปิดสนิทมา 5 ปีเต็มๆ ซึ่งประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท..
งานนี้ “เสือออนไลน์” เชื่อว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายคิงส์เกตร้องขอให้จ่ายก่อนที่จะเป็นการจ่ายก้อนใหญ่ 24,772 ล้านบาท!
โดยขณะนี้หลายฝ่ายประเมินกันว่า สิ่งที่คิงส์เกตได้รับไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นการได้ต่ออายุประทานบัตร เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด จำนวน 4 แปลง ให้แก่บริษัท อัคราฯ ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.64 - 29 ธ.ค.74
รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัทอัคราฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า วิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ ต.เขาเจ็ดลูก และ ต.ท้ายดง ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.65 - 18 ม.ค.70
ทั้งหลายเหล่านี้มีมูลค่าเกิน หรือเทียบเท่ากับเงิน 24,772 ล้านบาท ที่ฝ่ายคิงส์เกตร้องขอจากรัฐบาลไทยหรือยัง?
แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้าฝ่ายคิงส์เกต และบริษัทอัคราฯ จะทำเหมืองทองคำในพื้นที่ จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ต่อไป เขาก็ต้องร้องขอให้รัฐบาลไทยช่วยเคลียร์ “ม็อบหยุมหยิม” 2 กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ออกไปให้พ้นเส้นทาง เนื่องจากมองผิวเผินก็รู้ว่าเป็นม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้องการ “ฟอกขาว” ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองคำอัคราในประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ขณะที่ฉากหลังของม็อบที่พยายามปั่นราคาขายที่ดินให้เหมือง ต้องการให้เหมืองซื้อที่ดินไว้เป็นแนว “กันชน” ระหว่างเหมืองกับชุมชน ออกไปไกล 4-5 กิโลเมตร จากราคาที่ดินไร่ละไม่กี่หมื่นบาท ก็ออกมาเคลื่อนไหวปั่นราคากันไปไร่ละหลายแสน จนถึงไร่ละเป็นล้านบาท
ส่วนม็อบอีกกลุ่มซึ่งมาเคลื่อนไหวในแนวหลุดโลก! ออกมาทวงแร่ทองคำซึ่งเป็นสมบัติของประเทศ ไม่ให้ตกไปอยู่กับกลุ่มทุนต่างชาติ โดยพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกใบอนุญาตประทานบัตร แต่ไม่ได้ลืมตาดูโลกให้กว้างๆว่ามีบริษัทของคนไทยไปทำเหมืองทองคำอยู่ในออสเตรเลียและแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีบริษัทของไทยที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ออกไปประมูลได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศเมียนมา-ตะวันออกกลาง-แอฟริกา
เพราะการที่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้สรุปอย่างชัดเจนและเป็นวิชาการ ว่าผลกระทบจากเหมืองทองคำอัคราเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ และปัญหาสารพิษตกค้าง มีจริงหรือไม่? ในระดับที่เป็นอันตรายหรือเปล่า?
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ รีบใช้ ม.44 ซึ่งเป็นกฎหมายและอำนาจที่สังคมโลกไม่อาจยอมรับได้ ตรงนี้แหล่ะ ถ้ารัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้ขึ้นมา รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก พล.อ.ประยุทธ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผู้ใช้ ม.44 อยู่คนเดียว แล้วที่สำคัญตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง หรือการหยิบยื่นเสนอสิ่งใดให้กับฝ่ายคิงส์เกต ไหลไปอยู่ในมือของพรรคฝ่ายค้านหมดแล้ว
นอกจากนี้การใช้ ม.44 อย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ดูตาม้าตาเรือของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงแถลงไขให้สังคมทราบกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ต้องชี้แจงกรณีกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า การต่ออายุประทานบัตรจำนวน 4 แปลง และใบประกอบโลหกรรม ของบริษัท อัคราฯ เป็นกระบวนการพิจารณาอนุญาตตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการอนุญาตต่ออายุในครั้งนี้ เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในคราวขอขยายกำลังการผลิตโรงประกอบโลหกรรม ปี พ.ศ. 2555 บริษัท อัคราฯ ได้จัดทำรายงาน EHIA ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว นอกจากนี้ทางบริษัท อัคราฯ ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่โดยรอบอย่างครบถ้วนแล้ว ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานเรื่องดิน ตะกอนดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน คุณภาพอากาศ เสียง และข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เรียกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงจน “ม็อบ” หาช่องทาง “ฟอกขาว” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลำบากมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะยื้อไว้นานแค่ไหน แต่งานนี้รัฐบาลไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก!
แพ้แล้วต้องจ่ายเป็นตัวเงิน ส่วนจะจ่ายมาก จ่ายน้อย จ่ายเท่าใดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วต้องไปบีบเอาคืนจาก พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากคุยฟุ้งไว้ตั้งแต่แรกว่าจะรับผิดชอบเอง!
เอาว่างานนี้ปลายทางถึงขั้นร้องให้ “ยึดทรัพย์” นะจ๊ะ!!
เสือออนไลน์