จากกรณีอาคาร Service Hall หรืออาคารกรุ๊ปทัวร์ มูลค่า 200 ล้านของสนามบินดอนเมือง ถูกพายุพัดถล่มจนพังครืน ทั้งๆ ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ แต่ยังไม่เปิดใช้บริการนั้น
ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ฝ่ายวิศวกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เบื้องต้นพบว่า สาเหตุเกิดจากคานรับรางระบายน้ำบิดตัวประมาณ 2 ช่วงเสา และกดผนังให้ถล่มลงมา เนื่องจากคานไม่สามารถรับน้ำหนักน้ำฝนและกระแสลมที่กดทับลงมาได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า อาคารหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อ มิ.ย. 63 เป็นอาคาร Service Hall สำหรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เปิดใช้ หลังเกิดเหตุท่าอากาศยานดอนเมืองได้ปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้เกิดอุบัติเหตเพิ่มเติมแก่ผู้โดยสาร ไม่กระทบต่อการให้บริการ ผู้โดยสารยังเดินทางได้ตามปกติโดยไม่มีความเสี่ยง
วันนี้ (18 เมษายน) ตั้งแต่ 20.00 น. ทอท.จะเก็บเศษวัสดุที่ถล่มลงมาออกจากพื้นที่ และตัดคานที่มีความเสี่ยงในการถล่มลง
สำหรับอาคารดังกล่าว มีสัญญาก่อสร้างกับ บ.พาวเวอร์ไลน์ ภายใต้งบ 207.1 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้าง 15 พ.ย. 62 สิ้นสุดสัญญาก่อสร้าง 30 มิ.ย. 63 และมีรับประกันผลงานหมด 29 มิ.ย. 65
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการก่องสร้าง Service Hall มูลค่า 200 ล้านบาทของสนามบินดอนเมือง ที่พังครืนลงมา เพิ่งก่อนสร้างเสร็จปี 2563 และยังไม่เปิดใช้บริการ ส่อให้เห็นว่า การก่อสร้างไร้คุณภาพ จนถูกลมพัดพังเสียหาย จนมีการกล่าวกันว่า คุณภาพงานไร้มาตรฐานเช่นนี้ จะมีการส่อโกงกันจนต้องลดสเปกงานหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป
สมาคมวิศวกรฯ ถอดบทเรียน.. “อาคารกรุ๊ปทัวร์ถล่ม”
โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก และมีพายุฝนพัดถล่มอาคารในสนามบินดอนเมือง เมื่อคืนวันที่ 18 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้หลังคาและกำแพงของอาคารได้รับความเสียหายบางส่วนนั้น แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บนั้น โดยสมมุติฐานเบื้องต้น คือ 1. ความแรงของพายุฤดูร้อนที่มาพร้อมกับฝนฟ้าคะนอง และ 2. น้ำหนักของน้ำฝนที่ตกลงมาและอาจขังอยู่ในบางบริเวณของหลังคา ทำให้เกินกำลังรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้างได้ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ส่งวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบหาสาเหตุและขอบเขตของความเสียหายต่อไป
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความรุนแรงของพายุฤดูร้อนที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างในช่วงระยะเวลานี้ได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยง 6 ประการ คือ
1. พายุฤดูร้อนมักเกิดในช่วงเดือนเมษายน หรือในช่วงก่อนเริ่มฤดูฝน เป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก เนื่องจากความแปรปรวนในกระแสลม อาจสร้างแรงกระทำต่อโครงสร้างได้มากกว่าแรงลมทั่วไป 2 ถึง 3 เท่า
2. พายุฤดูร้อนจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีมวลอากาศเย็น หรือที่เรียกว่าความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้อากาศในบริเวณนั้นแปรปรวนเกิดความรุนแรงจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองขึ้น
3. พายุฤดูร้อนอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ในบางบริเวณ แต่ก็มีความรุนแรงมากที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างที่มีพื้นผิวหรือพื้นที่ปะทะลมมาก เช่น หลังคา และ ผนัง เป็นต้น
4. โครงสร้างที่อ่อนไหวต่อพายุฤดูร้อนเช่น ป้ายโฆษณา หลังคา ตลอดจนบ้านเรือนหรือโครงสร้างที่ยึดกับฐานรากไม่แข็งแรงซึ่งปรากฎเป็นข่าวทุกปี
5. โครงสร้างบางประเภทอาจไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับพายุฤดูร้อนตั้งแต่ต้น เนื่องจากการกำหนดค่าแรงลมที่คำนึงถึงพายุฤดูร้อน เพิ่งเริ่มมีขึ้นในปี 2550 ซึ่งก่อนหน้าปี 2550 ค่าแรงลมที่ใช้ออกแบบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารคำนึงเฉพาะแรงลมทั่วไป แต่ไม่ได้คำนึงถึงความแรงของพายุฤดูร้อน
6. สำหรับอาคาร ที่มีพื้นที่หลังคากว้าง ควรจัดการเรื่องการระบายน้ำฝนที่มาพร้อมกับพายุฤดูร้อน ไม่ให้เกิดการท่วมขัง เนื่องจากน้ำหนักน้ำค่อนข้างมาก อาจทำให้โครงสร้างหลังคาวิบัติได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายตรวจสอบอาคารและป้ายโฆษณาที่มีความสูงเกิน 15 เมตร หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป เจ้าของอาคารและป้ายโฆษณาจะต้องจัดการให้อาคารหรือป้ายโฆษณาของตนอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน
“ศักดิ์สยาม" ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง!
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคาร Service Hall สนามบินดอนเมืองที่พังครืนแล้ว หลังมีกระกระแสสังคมกังขาว่า สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับความเสียหาย แต่เหตุใดอาคารสนามบินดอนเมืองที่ควรต้องแข็งแกร่งกลับพังราบคาบลงมา