นับถอยหลังเข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้แล้ว
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ในฐานะอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์ในหัวข้อ “งานแรกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า..
เรากำลังจะมีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ในช่วงหน้าฝน ดังนั้น งานแรกของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ก็คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน จะแก้ได้หรือไม่ ? ต้องติดตาม
1. กทม. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมแล้วหรือยัง ?
โดยปกติก่อนหน้าฝนหรือก่อนฝนตกหนัก กทม. ได้ดำเนินการรับมือกับปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างดี อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น
ปัจจุบัน กทม. ควบคุมการทำงานของระบบระบายน้ำโดยใช้ SCADA (ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time) เพื่อติดตามระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ และการทำงานของเครื่องสูบน้ำ โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทางโทรศัพท์มือถือ หลายคนคงไม่รู้ว่าเครื่องสูบน้ำที่ กทม.ใช้อยู่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า แต่ต้องมีเครื่องสูบน้ำดีเซลและเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีไฟดับ และที่สำคัญ กทม. ได้ใช้เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติมานานแล้ว แต่ต้องมีคนเฝ้าคอยแก้ปัญหาเมื่อเครื่องขัดข้อง เช่น มีขยะมาติด
แม้ กทม. ได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี “คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ
“คอขวด” คือท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำจากพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ “แอ่งกระทะ” ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว
2. ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ต้องเร่งแก้ “คอขวด” ระบบระบายน้ำ
กทม. ได้สร้างอุโมงค์ หรือ “ทางด่วนน้ำ” เพื่อขนน้ำไปปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ถึงเวลานี้เปิดใช้แล้ว 4 อุโมงค์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 อุโมงค์ กำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ แต่อุโมงค์ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำไหลไปถึงปากอุโมงค์ได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากถนนมีขนาดเล็ก ทำให้เกิดสภาพ “คอขวด” ไม่สามารถขนน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กทม. จะต้องเร่งแก้ปัญหาคอขวด เพื่อทำให้ “อุโมงค์” เป็น “ทางด่วนน้ำ” ให้ได้
วิธีแก้ปัญหา “คอขวด” ระบบระบายน้ำ มีดังนี้
2.1 ติดตั้งรางรับน้ำ (Gutter) บนถนนชิดทางเท้า
เมื่อฝนตกหนัก จะเห็นว่าน้ำไหลลงบ่อพักได้ช้า ทั้งๆ ที่น้ำในท่อระบายน้ำยังไม่เต็ม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องรับน้ำที่บ่อพักมีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไหลลงบ่อพักไม่ทัน น้ำจึงเอ่อล้นถนน วิธีแก้ก็คือจะต้องติดตั้งรางรับน้ำบนถนนชิดทางเท้าที่มีความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะช่วยทำให้น้ำบนถนนไหลลงรางรับน้ำและบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว ไม่เอ่อล้นบนถนน ซึ่งวิธีนี้ กทม. ได้นำมาใช้แล้ว ปรากฏว่าได้ผลดี ควรทำต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
2.2 วางท่อระบายน้ำใหม่
กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วน โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติม จากท่อเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม. ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะรับน้ำจากถนนเพื่อขนไปสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว น้ำจากปากอุโมงค์จะไหลไปท้ายอุโมงค์ แล้วถูกสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อุโมงค์ทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์
3. นอกจากแก้ “คอขวด” แล้ว ผู้ว่า กทม. คนใหม่ ควรเร่งสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน”
ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ และไม่มีที่ว่างหรือบึงที่จะสร้างเป็น “บึงแก้มลิง” ได้ จำเป็นต้องสร้างแก้มลิงใต้ดินไว้เก็บน้ำฝนส่วนเกินที่ระบบระบายน้ำจะสามารถรองรับได้ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในท่อระบายน้ำและคลองพ้นวิกฤตแล้ว จึงทยอยระบายน้ำออกสู่ท่อระบายน้ำ คู คลองต่อไป แก้มลิงใต้ดินจะช่วยลดน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบๆ ได้
ถึงเวลานี้ กรุงเทพฯ มีแก้มลิงใต้ดินแล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย (1) บริเวณ สน. บางเขน มีความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (2) ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง มีความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (3) ใต้ดินรัชวิภา (ถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และ(4) ใต้ทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
4. ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนไหน ที่รู้จริงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ?
จะเฟ้นหาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่รู้จริงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้โดยดูจากนโยบายการดีเบต หรือการแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะรู้ได้ว่าใครรู้จริง ทำได้จริง มีข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เพ้อฝัน ไม่คุยโม้โอ้อวดด้วยข้อมูลผิดๆ ไม่ยกตนข่มท่าน แต่สุดท้ายกลายเป็น “ปล่อยไก่”
สำหรับผมนั้นได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ !
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=566130894879684&id=100044483347532