หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมา “ตีปี๊บ” ความสำเร็จโครงการกำหนดอัตราความเร็วรถยนต์ที่วิ่งบนทางหลวงแผ่นดินจากที่กำหนด 90 กม./ชั่วโมง ให้อัพสปีดขึ้นมาเป็น 120 กม./ชม. ที่กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงดีเดย์นำร่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 หวังจะให้เมืองไทยมีถนน “ออโต้บาห์นไทยแลนด์” แบบยุโรป-เยอรมนีบ้าง
โดยนำร่องโครงการบนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชียจากหมวดการทางบางปะอิน-ต่างระดับอ่างทอง ระยะทางราว 50 กม. ก่อนขยายเส้นทาง “ออโตบาห์นไทยแลนด์” ในระยะ 2 ไปอีก 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตอนบ่อทอง - มอจะบก กม.ที่ 74.5 -กม. ที่ 88 ระยะทาง 13.500 กิโลเมตร 2. ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตอนหางน้ำหนองแขม - บ้านหว้า - วังไผ่ ระหว่าง กม. ที่ 306+640-กม.ที่ 330+600 ระยะทาง 23.960 กิโลเมตร 3. ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ตอนอ่างทอง - ไชโย - สิงห์ใต้ - สิงห์เหนือ – โพนางดำ ระหว่าง กม.ที่ 50-กม. ที่ 111+473 ระยะทาง 61.473 กิโลเมตร
4. ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนสนามกีฬาธูปเตมีย์ - ประตูน้ำพระอินทร์ ระหว่าง กม. ที่ 35-กม. ที่ 45 ระยะทาง 10 กิโลเมตร 5. ทางหลวงหมายเลข34 (ถนนบางนา - ตราด)ตอนบางนา - ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่าง กม. ที่ 1+500 - กม. ที่ 15 ระยะทาง 13.5 กม.และ 6. ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนสุวินทวงศ์) ตอนคลองหลวงแพ่ง - ฉะเชิงเทรา ระหว่าง กม. 53 - กม. ที่ 62 ระยะทาง 5.8 กม. รวมระยะทางอีก 120 กม. และยังมีแผนขยายเส้นทาง “ออโตบาห์น” ในระยะ 3 เพิ่มอีก 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 152 กม.ในปีนี้อีก หลายเส้นทางน่าจะมีการตีเส้น และดำเนินการแล้ว
การปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม.นั้น ทางกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ใช้งบจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถและถนน (กปถ.) มาสนับสนุนการปรับปรุงผิวจราจร เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย แต่กระนั้นก็ยังคงลิมิตหรือจำกัดอัตราความเร็วตามประเภทรถ 7 ประเภท ได้แก่ 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คนใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. 2. รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม. 3. จักรยานยนต์ ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม/ซม. ส่วนจักรยานยนต์กำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือ 400 CC ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม. 4. รถโรงเรียนใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.5. รถโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม/ชม. 6. รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. 7. รถอื่นๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1-6 ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
อย่างไรก็ตาม ขวบปีนับแต่กระทรวงคมนาคม ดีเดย์ถนน “ออโตบาห์น” แบบไทยๆ ไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คนผู้ใช้รถใช้ถนนสักแค่ไหน แต่สำหรับตัวเอง (ทีมงานกองบรรณาธิการสำนักข่าวเนตรทิพย์ฯ) ที่ใช้รถเส้นทางเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ แล้วบอกตามตรง ค่อนข้างจะหงุดหงิด และเสียเซลฟ์เสียอารมณ์ไปกับ ”มหกรรมปาหี่” ออโต้บาห์นไทยแลนด์นี้เสียจริงๆ
เพราะผุดกันออกมาทั้งที่ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ทั้งสภาพถนนที่ไม่สอดรับ โดยเฉพาะถนนสายเอเซียที่สภาพพื้นผิวจราจรไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้ความเร็วได้เลยสักนิด เพราะเป็นถนนเก่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา พื้นผิวเต็มไปด้วยสภาพผุพังตามกาลเวลา ไม่เหมาะที่จะให้ยวดยานใช้ความเร็วเลยสักนิด แถมยังไม่มีการประสานงานกันระหว่างกรมทางหลวง กรมขนส่งทางบก และกองบัญชาการตำรวจจราจร หรือบรรดา “เสียหิว เสือโหย” อะไรกันสักอย่าง!
จนกลายเป็น “กับดัก” ให้พวกเสือโหยเอาไว้หากินกับการออกใบสั่งไปแล้วเวลานี้
อย่างที่เคยบอก ถนน “ออโต้บาห์น” ต้นแบบในเยอรมนีที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย “ฮิตซ์เลอร์” เมื่อเกือบ 100 ปี ปีที่แล้วนั้น เขาสร้างโครงข่ายถนนที่มีความยาวรวดเดียวกว่า 12,917 กิโลเมตร จัดเป็นทางหลวงที่ดีที่สุดของโลก ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ทั้งๆ ที่รถยนต์แต่ละคันขับด้วยความเร็วที่สูงมาก
แต่กับถนน “ออโตบาห์นเมืองไทย” เราที่กระทรวงคมนาคมในยุคนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผุดขึ้นมานั้นบอกตามตรงว่า มันหนังคนละม้วนเลยทีเดียว บางช่วงกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ 10-15 กม.บ้าง 25 กม. หรือ 50 กม.บ้าง บางช่วง 5 กม. ก็ยังเอาเพราะสภาพถนนไม่เอื้ออำนวย แถมยังมีจุดตัด จุดลักตัด จุดลักผ่าน และจุดที่ต้องซ่อมถนนซ่อมทางให้ยุ่บยั่บไปหมด อย่างสายเอเชียที่ว่านั้น ผ่านมากว่าขวบปีหรือสองปีเข้าไปแล้วก็ยังเห็นซ่อมผิวจราจร เปิดจุดเบี่ยง จุดผ่านกันให้ยุ่งขิงไปหมด
จุดเริ่มต้น-สิ้นสุดโครงการขยักขย่อนเป็นช่วง ๆ และมักจะไม่ประสานเชื่อมต่อกันเสียด้วย บางช่วงที่เป็นรอยต่อนั้นห่างกัน 3-5 กิโล ซึ่งก็มักจะมีสะพานลอยและมีกล้องตรวจจับความเร็วคอยทำหน้าที่ตรวจจับความเร็วแบบที่ผู้ใช้รถต้องหา RC กันเอาเองว่า กำลังขับอยู่ในช่วงไหน ผู้ขับขี่จะต้องลุ้นหา RC กันเอาเอง หากใครเผลอเหยียบเพลินตามป้ายบอกความเร็วที่ติดอยู่ข้างทางอาจเจอใบสั่งไปเยี่ยมถึงบ้านเอาได้ทุกเมื่อ
จึงไม่น่าจะเรียกว่าเป็นทางหลวงพิเศษอะไรได้เลย น่าจะเรียกว่าเป็น “ทางหลวง RC” กันเสียมากกว่า เพราะจะกำหนดให้ใช้ความเร็วตรงจุดไหน ช่วงไหน และสิ้นสุดลงจุดใดเมื่อใดนั้น ต้อง “วัดดวง” กันเอาเอง
อย่างที่บอกเขตควบคุมความเร็วอัพสปีด 120 กม. ที่ว่านั้น หากเป็นมอเตอร์เวย์สายใหม่อย่างมอเตอร์เวย์ บางประอิน-โคราช หรือบางใหญ่ บ้านโป่ง-กาญจนบุรี หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่มีการกั้นขอบเขตกั้นทางเอาไว้ สามารถทำได้แน่ แต่สำหรับทางหลวงแผ่นดินสายหลัก อย่าง สายเอเชีย พหลโยธิน พระราม 2 หรือเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย 24 โชคชัย - เดชอุดม หรือถนนมิตรภาพ ที่เป็นเส้นทางสายประธานของภาคอีตอนล่างทอดยาวไปถึงอุบลราชธานีนั้น ทั้งสภาพถนน (ที่แม้จะปรับปรุงแล้ว) ที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงแล้ว
การกำหนดความเร็วแบบลักปิด-ลักเปิด เป็นช่วง ๆ ช่วงละ 30-50 กม.นั้น ไม่เพียงจะสร้างความสับสนให้แก่ผู้ขับขี่ ยังกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ (บางราย) ใช้เป็นช่องทางทำมาหารับประทานกันเข้าไปอีก มีการนำเอากล้องตราวจับความเร็วไปติดตั้งหรือซ่อนเอาไว้ตามริมถนนเป็นช่วงๆ ยิ่งเขตจังหวัดบุรีรัมย์ของเสี่ยโอ๋ - นายศักดิ์สยาม ด้วยแล้วนั้น มีไม่รู้กี่สิบจุด
ล่าสุด ทีมงานกองบรรณาธิการสำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนนมิตรภาพหรือทางหลวงหมายเลข 24 ว่า ขับรถกลับบ้านต่างจังหวัดผ่านพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ของ ”เสี่ยโอ๋” บริเวณพิกัดถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 130+135 เขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ บุรีรัมย์ และผ่านบริเวณพื้นที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีข้อสังเกตว่า มีการติดตั้งกล้องดักจับความเร็ว ทั้งเห็นได้ชัดเจนบนเสาคร่อมถนน และกล้องซุ่มจับความเร็วมีความชัดระดับ Full HD ชัดแจ๋วกว่ากล้องถ่ายภาพมิจฉาชีพเสียอีก โดยผู้ใช้รถใช้ถนนที่ขับผ่านบริเวณนี้ถูกใบสั่งทำผิดกฏจราจรขับรถเร็วเกินกว่ากฏหมายกำหนดตามหลังมาเป็นพรวน
ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันถนนมิตรภาพได้ขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร ทำให้รถราวิ่งกันสะดวก แต่จำกัดความเร็วไว้ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งประชาชนที่ผู้ใช้เส้นทางสายนี้ ส่วนใหญ่ขับรถทำความเร็วมากกว่า 90 กิโลเมตรกันอยู่แล้ว จึงได้รับใบสั่งจากตำรวจส่งถึงบ้านกันระนาว
ในเรื่องนี้ “เสี่ยโอ๋” ควรเรียกอธิบดีกรมทางหลวงชนบทไปหารือ เพื่อผ่อนปรนในยุคข้าวยากหมากแพงให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ไม่ใช่ส่งใบสั่งถึงบ้านปรับขั้นต่ำ 500 บาท มีคำถามตามว่า ปริมาณรถยนต์สัญจรบนถนนมิตรภาพมีจำนวนกี่คันต่อวัน อย่างน้อย 500-1,000 คันขึ้นไป มีหลายร้อยคันที่ถูกใบสั่ง จำนวนใบสั่ง 1 เดือน จะเท่าไรหา และหากรวมระยะเวลา 1 ปี ใบสั่งเงินค่าปรับก้อนโตเหล่านี้ไปตกอยู่ในกระเป๋าใครบ้าง?
จากความเป็นจริงนโยบายสวยหรู “ซิ่งได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” ได้กลายเป็นมหกรรมปาหี่ถนนออโต้บาห์นเมืองไทย ที่ไม่รู้รัฐต้องการจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน หรือหวังจะ “สร้างกับดัก” ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อเรียกค่าปรับเข้าพกเข้าห่อกันแน่ !!!
เป็นอีกบทสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายกระทรวงคมนาคมยุคนี้โดยแท้..จริงไม่จริง ฯพณฯ ท่านศักดิ์สยาม ที่เคารพ!