ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ออกมาแฉโพยการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าฯ และคณะกรรมกาารคัดเลือกฯ อีกระลอก.. ในกรณีที่ดอดแก้ไขเงื่อนไขทีโออาร์ครั้งที่ 2 ใหม่ เพื่อจงใจเอื้อให้แก่เอกชนบางรายอย่างเห็นได้ชัด ย้อนแย้งกับที่เคยป่าวประกาศออกไปทั่วโลกว่า ให้ความสำคัญกับบริษัทเอกชนที่เข้าประมูลจะต้องได้บริษัทที่มีประสบการณ์ ความสามารถ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยระบุว่า..
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้า "ในการจัดหาและติดตั้งรถไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท" ที่กำหนดไว้ในการประมูลครั้งที่ 1 ออก จึงชวนให้น่าสงสัยว่า "อินชอน" ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ?
1. ประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ในการประมูลครั้งที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท
แต่ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ “ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท” ออกไป “จึงชวนให้น่าสงสัยว่า Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีที่ร่วมยื่นประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในการประมูลครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มี และ รฟม. ไม่ตัดประสบการณ์นี้ออก ITC ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้”
ITC จึงมีบทบาทสำคัญในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เพราะหาก ITC ไม่สามารถจับมือร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ ก็จะเหลือผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียว คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งย่อมไม่ใช่ความต้องการของ รฟม. อย่างแน่นอน
จากการที่ผมได้ค้นหาประสบการณ์ของ ITC ไม่พบว่า มีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า หรือในกรณีที่มีแต่ผมหาไม่พบก็คงมีน้อยมาก คาดว่า มีมูลค่าไม่ถึง 15,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และเพื่อคลายข้อสงสัยของสาธารณชน ผมใคร่ขอวิงวอนให้ รฟม. ตรวจสอบอีกครั้งว่า ICT มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ? แล้วตอบออกมาดังๆ ว่า มีหรือไม่มี ?
2. การประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. กำหนดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าไว้อย่างไร ?
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ของ รฟม. ในปี 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในอีกไม่นาน รฟม. ได้กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ มีมูลค่าของสัญญารวมกันทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่าประสบการณ์นี้มีความสำคัญที่ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมี แต่ทำไม รฟม. จึงตัดประสบการณ์นี้ออกไปในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่ ในประกาศเชิญชวนหาผู้ร่วมลงทุน รฟม. ได้ระบุหน้าที่ของผู้ร่วมลงทุนไว้ชัดเจนว่า “ผู้ร่วมลงทุนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า”
3. ข้อสงสัย
ในกรณี ITC ไม่มีประสบการณ์นี้ การที่ รฟม. ตัดข้อความ "ประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท" ออก ทำให้เกิดคำถามว่า “การตัดเงื่อนไขสำคัญนั้นออกเพื่ออะไร ? และ/หรือ เพื่อใคร ? หรือไม่ ? และมีเหตุผลสำคัญอย่างไรจึงต้องตัดออก การตัดเงื่อนไขสำคัญดังกล่าวออกไปนั้น ทำให้ใครได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่ ? และสำคัญที่สุดคือ ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่ ?" ควรอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02YSuoLdrFeCVUjfQSFVPJ2fxkRP4qtktX9F8xXaqkBKygiYPZm2USHivGgKQLskEul&id=100044483347532
ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งเอกสารเผยแพร่ ระบุว่า ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยต่อมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็น โดยสรุปดังนี้
1. การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563
2. ประกาศเชิญชวนฯ ได้เผยแพร่ตามขั้นตอนเป็นระยะเวลากว่า 60 วันก่อนกำหนดวันเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563
3. ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปเพื่อให้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
4. ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ทั้งในและต่างประเทศ รวม 14 ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP เพียง 10 ราย
5. การเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องเป็นกรณีที่มีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมลงทุน ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ
สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งภายหลังจากการรับซองเอกสารข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่มีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ และได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินของ รฟม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)