ธ.ก.ส. ผนึกกำลังกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การเสริมความรู้สร้างอาชีพและการเพิ่มศักยภาพทางการเงินผ่านมาตรการต่าง ๆ ของ ธ.ก.ส. ไม่ว่าจะเป็นชำระดีมีคืน Plus จ่ายดอกตัดต้น ลดภาระให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรผ่าน www.bot.or.th/DebtFair ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 พ.ย. 65 และเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกันจัด มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส. พร้อมผู้ให้บริการทางการเงินภาครัฐ (SFIs) และบริษัทเอกชนเข้าร่วมงานมหกรรมฯ กว่า 60 แห่ง เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สงครามระหว่างประเทศ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การเติมความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมจัดทัพผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ลูกค้าเลือกสรร สำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน www.bot.or.th/DebtFair เพื่อเข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 6 แห่ง
นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ธ.ก.ส. ตระหนักถึงสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญมากว่า 2 ปี ธ.ก.ส. จึงวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าในทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงขาขึ้นขณะนี้ออกไปให้นานที่สุด เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนกับลูกค้าในช่วงการฟื้นตัว การจูงใจให้ลูกค้ารักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีไว้ โดยดูแลในเรื่องผลตอบแทน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามชั้นลูกค้าและการคืนเงินดอกเบี้ยเพื่อแบ่งเบาภาระผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus จำนวน 3,000 ล้านบาทให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2566 การดูแลภาระหนี้สินเดิม เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการเลื่อนงวดในการชำระหนี้ผ่านมาตรการจ่ายดอกตัดต้น การไกล่เกลี่ยหนี้ การจัดทำคลินิกหมอหนี้เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้าน Financial Literacy/Digital Literacy การร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา ในการศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อ สานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming อัตราดอกเบี้ย MRR สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นต้น การสนับสนุนช่องทางด้านการตลาดในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในระดับท้องถิ่น ตลาด Modern trade ตลาด E-Commerce ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต กองทุนทวีสุข กองทุนเงินออมแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรและชุมชนต่อไป