ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยสถานการณ์ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และปฏิบัติการทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมีเกือบ 100% ดังจะเห็นได้จากปริมาณสต็อกปุ๋ยเคมีของผู้ผลิต/ผู้นำเข้าในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) มีปริมาณสต็อกปุ๋ยเคมี 0.91 ล้านตัน น้อยกว่าสต็อกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 20% อย่างไรก็ดี หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับโครงสร้างราคาปุ๋ยเคมี ให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าปุ๋ยเคมีมาได้ โดยที่ลดส่วนเหลื่อมกำไรลง ทำให้มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีมากขึ้น อีกทั้งการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกันเชื่อมโยงให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าได้นำเข้าปุ๋ยจากแหล่งสำคัญ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่ได้ดำเนินการแล้ว นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาระยะสั้น ยังทำให้มีการจับคู่ซื้อขายระหว่างกันในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ปริมาณสต็อกปุ๋ยเคมีของผู้ผลิต/ผู้นำเข้าทุกรายรวมกัน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 1.50 ล้านตัน มากกว่าปริมาณสต็อกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ปริมาณสต็อกเพิ่มขึ้นถึง 66% ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกร ดังนั้นจึงถือได้ว่าปัญหาด้านปริมาณได้ผ่อนคลายลงแล้ว
ส่วนราคาปุ๋ยเคมีขณะนี้ได้ปรับลดลงมาแล้ว ตามสถานการณ์ราคาและความต้องการปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงนี้ ประกอบกับปริมาณปุ๋ยเคมีในประเทศที่มีเพียงพอ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ผลิต/ผู้นำเข้าของไทยแต่ละราย อาทิ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่ราคาได้ปรับลดลงมาประมาณ 15-20% อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ราคาปุ๋ยเคมียังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ที่สถานการณ์ราคาเป็นเช่นนี้ทั่วโลกเพราะปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญๆ หลายสูตร ผลิตมาจากสารแอมโมเนีย (NH3) ที่ทำจากก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอน เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) และปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0) เป็นต้น โดยราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น และการจำกัดการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียของประเทศตะวันตก จะเห็นได้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เฉลี่ยในปี 2563 อยู่ที่ 4.33 ดอลล่า/ล้านบีทียู ในปี 2564 ปรับสูงขึ้นเป็น 18.46 ดอลล่า/ล้านบีทียู และในปี 2565 เฉลี่ย 7 เดือนแรก ปรับสูงขึ้นเป็น 30.72 ดอลล่า/ล้านบีทียู นอกจากนี้ต้นทุนการขนส่งและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่ง
เพื่อรักษาความเป็นธรรมด้านราคาให้แก่พี่น้องเกษตรกร และป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายในราคาแพงเกินสมควร กรมการค้าภายในได้ขอให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่สืบราคาและรายงานราคาจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมี ให้กรมฯ ทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์ และขอความร่วมมือให้สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ร่วมสอดส่องดูแลและกำชับไปยังตัวแทนจำหน่ายให้ขายปุ๋ยเคมีในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ห้ามฉวยโอกาสขายในราคาแพงเกินสมควร ทั้งนี้ หากพบการฉวยโอกาส นอกจากจะมีโทษตามกฎหมาย จำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังจะถูกเพิกถอนหรือระงับการเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือพบการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด