กรณีเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา นายสลิล จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารด้านกฎหมายและเลขานุการบริษัท ได้แจ้งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทเรื่องดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 โดยบริษัทขอแจ้งว่า จากกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งว่าดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (“สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ”) ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2534 และแจ้งให้บริษัทฯปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯให้ครบถ้วน อาทิ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สิน การชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนและการประกันภัยทรัพย์สินซึ่งบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ไม่ใช่ดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ แต่เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 นั้น บัดนี้ กระบวนการพิจารณาข้อพิพาทของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ดำเนินการมาจนเสร็จสิ้นแล้ว และบริษัทฯ ได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ ว่า ดาวเทียม ไทยคม 7 และไทยคม 8 มิได้เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ และให้ยกคำร้องแย้งของผู้คัดค้าน เมื่อมีคำชี้ขาดดังกล่าวแล้ว กรณีจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 มิได้อยู่ภายใต้ และหรือ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ใดๆ ที่ต้องดำเนินการตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวอ้างและหรือร้องขอตามที่เป็นข้อพิพาทผลพวงจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้างต้น ทำให้คดีฟ้องร้องที่บริษัทไทยคม ยื่นฟ้อง หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 120 ล้านบาท กรณีกล่าวหานำดาวเทียมไทยคม 7-8 ไปหาประโยชน์ ไม่ยอมคืนดาวเทียมสัมปทานไปให้รัฐและกระทรวงดีอีเอส ทั้งยังกล่าวหา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ กสทช. ออกใบอนุญาตไทยคม 7-8 โดยมิชอบ ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกล่าวหา บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี้ฯ ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ อินทัช โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ.ไทยคม และเอไอเอส เป็นการผูกขาดกิจการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต อันเป็นการกล่าวหาที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายร่วม 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกรณีกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีที่นำเอากรณีสัมปทานไทยคม 7-8 นี้ ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมต.ดีอีเอส เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64 โดยมีการพาดพิงไปถึงบริษัท ทำให้กัลฟ์เอ็นเนอร์จี้ฯ จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงได้ยื่นฟ้องอาญาข้อหาหมิ่นประมาท และยังยื่นฟ้องคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง 100 ล้านบาท โดยศาลแพ่งนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 10 ต.ค.ศกนี้ด้วย หมายเหตุ:อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:-เนตรทิพย์:Columnist ทวงคืนไทยคม..ระวังจบด้วย "ค่าโง่"http://www.natethip.com/news.php?id=4374