ช่างสะท้อนแง่คิดให้ประชาชนคนไทยได้เห็น “กำพืด” ของนักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ได้ดีแท้!
กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 ก.ย.65 ที่อนุมัติงบกว่า 796 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ใช้คำสั่ง ม.44 สั่งปิดเหมืองทองคำอัครา ตั้งแต่ปลายปี 59
ขณะที่ความสูญเสียจากเหตุกราดยิงอย่างบ้าคลั่งของอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู นั้น รัฐบาลกลับต้องโทรโข่งขอรับเงินบริจาคจากนักธุรกิจและประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ให้ช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บร่วมครึ่งร้อย
ช่างเป็นมาตรการ “เยียวยา” ความสูญเสียที่ต่างกันราว “ฟ้ากับเหว” หนึ่งนั้นคือความสูญเสียที่เกิดจากเงื้อมมือของผู้นำประเทศที่ใช้อำนาจ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองคำโดยไม่ได้พิจารณากลั่นกลองให้รอบคอบ จนถูกนักลงทุนต่างประเทศฟ้องเป็นคดีต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จ่อจะทำให้ประเทศต้องเสีย “ค่าโง่” กว่า 30,000 ล้าน ซึ่งไม่สมควรจะเบียดบังเอาเม็ดเงินภาษีประชาชนไปเยียวยาให้แม้แต่สลึงเดียวหรือไม่?
อีกหนึ่งนั้น คือความสูญเสียที่เกิดจากเงื้อมมือของอดีตตำรวจที่กระทำต่อเด็กเล็กและประชาชนที่ไร้ทางสู้ เป็นโศกนาฏกรรมที่ยังความเศร้าสลดมาสู่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่หากจะโยกเม็ดเงินทั้ง 796 ล้านบาทนี้มาเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต ก็เชื่อแน่ว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศคงพร้อมขานรับเห็นดีเห็นงามด้วยแน่
เช่นเดียวกับเรื่องที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ออกมาโพสต์ล่าสุด “ใครของจริง? รฟม. ปะทะองค์กรต้านโกง กรณีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านประมูลสายสีส้ม”
โดยระบุว่า.. น่าดีใจที่องค์กรต้านโกงออกโรงเรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นไปถึง 6.8 หมื่นล้าน พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลฉาวโฉ่นี้ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ !
ก่อนจะย้อนรอยเหตุที่องค์กรต้านโกงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมูล เพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)กับผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
พร้อมกันนี้ ดร.สามารถ ได้ย้อนรอยความผิดปกติในการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่ว่านี้ ไล่มาตั้งแต่การที่ รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม.ใช้เวลาศึกษาเงื่อนไขการประมูลมาอย่างละเอียดเกือบ 2 ปี การใช้เกณฑ์ใหม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่?
เพราะหาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล ก็มีความเป็นไปได้ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. แค่เพียง 9,675.42 ล้านบาทเท่านั้น
การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม.ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ยังไม่ทันที่ศาลจะมีคำสั่งใดๆ ลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน ทำให้ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลางอีกคดี ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า คำสั่งยกเลิกการประมูลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก และสั่งให้รฟม.เพิกถอนคำสั่ง แต่ รฟม.กลับยังคงเดินหน้าเปิดประมูลใหม่ในครั้งที่ 2 ต่อไป
สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เอื้อประโยชน์ และกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่? เช่น 1. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น ทำให้ BTSC ที่เคยยื่นประมูลร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STECไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งที่ 2 ได้
นอกจากนี้ ยังมีการลดทอนคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC จากเกาหลีใต้สามารถเข้าร่วมประมูลกับ ITD ได้ จากเดิมที่ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งหาก ITC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ITD จะหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นมาร่วมประมูลได้หรือไม่ ? เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ไม่เพิ่มคุณสมบัติขึ้นเหมือนกรณีผู้รับเหมา หรือคงคุณสมบัติไว้เหมือนเดิม?
ที่สำคัญจากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ?
ส่วนการที่ ACT ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ รฟม. กลับออกมาโต้ ACT ว่า ไม่เคยได้รับรายงานของผู้สังเกตการณ์จาก ACT ที่ชี้ให้เห็นว่า รฟม. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตนั้น ดร.สามารถ ระบุว่า เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย รฟม. และ ACT รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุมให้เห็นว่า มีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
และ ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ต่อการประมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นตามข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น และกรณีคุณสมบัติของ ITD ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวข้างต้น รฟม. เคยให้ข่าวว่าจะสอบถามไปยังคณะกรรมการพีพีพีนั้น ถึงเวลานี้ รฟม.ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯว่ามีความเห็นอย่างไรเช่นกัน
ก็ไม่รู้ว่าเสียงสะท้อนของภาคประชาชนอย่างองค์กร ACT ที่ว่านั้น จะแว่วไปถึงหู "นายกฯ ลุงตู่" และโดยเฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ ไอ้ที่เคยตีฆ้องร้องป่าวขอให้ภาคประชาชนได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องพฤติกรรมการทุจริต คอร์รัปชั่นของการประมูลอะไรทั้งหลายแหล่ บัดนี้เขาเปิดโปงกันมาซะขนาดนี้ จะยังนั่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเพราะเกรงใจ ”นั่งร้าน” ที่ประคับประคองเก้าอี้ตัวเองต่อไปหรือไม่
เพราะหากกรณีอื้อฉ่าวนี้ถูกปล่อยผ่าน อีกหน่อยเราคงได้เห็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างปีละนับแสนล้านบาทตบเท้าเจริญรอยตาม คือ กำหนดเงื่อนไขประมูลเสร็จแล้วเคาะโต๊ะกันดื้อๆ จะประเคนโครงการให้ใครก็สามารถแก้ไขและรื้อทีโออาร์ประเคนโครงการก่อสร้างให้กันไปดื้อๆ ใครหน้าไหนจะออกมาโวยวายก็ตีแสกหน้ากลับไปตรงๆ เพราะในทีโออาร์ก็กำหนดเงื่อนไขเอาไว้แล้วว่า ”สงวนสิทธิ์” ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า!
แต่อย่างไรก็ตาม “แก่งหินเพิง” ไม่ได้คาดหวังว่าเรื่องอื้อฉาวแบบนี้จะได้รับการสนองตอบใด ๆ จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. นักหรอก ลำพังแค่สำนวนที่ค้างเติ่งอยู่ในมือกว่า 500 แฟ้มนั้น ก็ไม่รู้จะต้องใช้เวลาสอบกันอีกกี่ปีกี่ชาติถึงจะสะสางได้หมด แถมบางเรื่องยังตั้งแท่นจะ ”ปก-ปิด-แช่” หรือจับถ่วงน้ำเสียด้วยซ้ำไป
ก็ดูอย่างเรื่อง “ปาล์มอินโดอื้อฉาว” 20,000 ล้าน ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ที่เกี่ยวพันและเกี่ยวโยงไปถึงอดีตผู้บริหารระดับบิ๊กใน ปตท. และ ป.ป.ช. นั่นปะไร ป.ป.ช. ตั้งแท่นสอบเรื่องนี้มาจะ 10 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่คืบไปถึงไหน แม้ล่าสุดประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีคำสั่งไล่ออกผู้บริหารระดับรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ไปแล้ว จากกรณีที่ตรวจสอบพบว่า ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินไม่ทราบที่มาที่ไปก็ว่า 658 ล้าน และยังมีกรณีการจงใจปกปิดไม่แสดงที่มาของภรรยาในต่างประเทศอีกกว่า 225 ล้านบาท ซึ่งนัยว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นเงินที่ไหลมาจากสินบนปาล์มอินโดฯ นั่นแหล่ะ
แต่ในส่วนของความคืบหน้าของการไต่สวนมหากาพย์ปาล์มอินโดต้นเรื่องนั้นกลับเงียบ “หายเข้ากลีบเมฆ” ทั้งๆ ที่โครงการนี้มีระดับบิ๊กๆ ใน ปตท. และ ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี เกี่ยวข้องนับสิบราย
“แก่ง หินเพิง" จำได้ว่าเคยปะหน้าและสอบถาม คุณสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนสำนวนคดีนี้โดยตรง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า จะสรุปผลไต่สวนกรณีอื้อฉาวนี้ให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 โน้นแล้ว ผ่านมาวันนี้จะ 3 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นจะมีอะไรคืบหน้า
ก็ไม่รูว่าจะต้องสอบกัน “ข้ามภพ ข้ามชาติ” กันหรืออย่างไร ท่านประธาน ป.ป.ช. ที่เคารพ!
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
เนตรทิพย์: Columnist
มหากาพย์ปาล์มอินโดฯ..กินปูนร้อนท้อง!
http://www.natethip.com/news.php?id=920