นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาติดตามแนวโน้มสถานการณ์การค้าและการส่งออกอาหารจากพืช หรือแพลนต์เบสต์ฟู้ด (Plant Based Foods) และโอกาสทางการค้าของไทย ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลก เพื่อยกระดับอาหารไทยเป็นอาหารโลก
แพลนต์เบสต์ฟู้ด ไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในความหมายที่คนส่วนใหญ่ที่เข้าใจร่วมกัน คือ อาหารที่มีส่วนประกอบจากพืชทั้งหมด ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งพืชครอบคลุมทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช พืชหัว พืชฝักตระกูลถั่ว ผลไม้แห้งเปลือกแข็ง เมล็ดพืช เห็ดรา และสาหร่าย เช่น สมาคมอาหารจากพืชของสหรัฐอเมริกา (PBFA) และสมาคมอาหารจากพืชของยุโรป (ENSA) ต่างนิยาม แพลนต์เบสต์ ฟู้ด ว่าหมายถึง อาหารจากพืชที่ไม่มีส่วนผสมจากสัตว์ โดยเน้นอาหารจากพืชที่ให้โปรตีนเป็นหลัก
บลูมเบิร์ก (Bloomberg Intelligence) สำรวจสถานการณ์ตลาดแพลนต์เบสต์ฟู้ดของโลก คาดว่าในปี 2573 (ค.ศ. 2030) แพลนต์เบสต์ฟู้ดจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7.7 ของแหล่งโปรตีนในตลาดโลก และมีมูลค่า 162,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (จาก 29,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2020) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีประชากรถึง 4,600 ล้านคน เป็นตลาดที่สำคัญสำหรับโปรตีนจากพืช โดยมูลค่าตลาดจะสูงถึง 64,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (จาก 13,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563) สินค้าสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ผลิตภัณฑ์นมจากพืช ขณะที่ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และแอฟริกา ตะวันออกกกลาง และลาตินอเมริกา จะมีมูลค่าประมาณ 8,000-9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแต่ละภูมิภาค
ผอ. สนค. กล่าวว่า ในด้านสถิติการค้าระหว่างประเทศของสินค้าแพลนต์เบสต์ฟู้ด มีข้อจำกัดจากการที่แพลนต์เบสต์ฟู้ดไม่มีพิกัดศุลกากรแยกเฉพาะ ดังนั้น เพื่อให้เห็นทิศทางแนวโน้มของการค้าสินค้าดังกล่าว สนค. จึงใช้พิกัดศุลกากรระดับพิกัดฯ 6 หลัก กำหนดโดยองค์การศุลกากรโลก เพื่อให้ประเภทสินค้าตรงกันและสามารถเปรียบเทียบกัน โดยสินค้าโปรตีนจากพืชจะอยู่ภายใต้ประเภทและพิกัดศุลกากร 3 กลุ่มหลัก คือ
(1) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ที่อื่น (พิกัดฯ 2106.90) เช่น เต้าหู้ ครีมเทียม
(2) เครื่องดื่มอื่น ๆ (พิกัดฯ 2202.99) เช่น นมถั่วเหลือง
(3) โปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน (พิกัดฯ 2106.10) เช่น ผงโปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช
จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของ Trademap.org พบว่า ในปี 2564 โลกส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช 3 กลุ่มข้างต้น มีมูลค่ารวม 69,297 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ 5 รายแรก ได้แก่ (1) สหรัฐฯ (8,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 11.6 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งโลก) (2) สิงคโปร์ (6,544 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 9.4) (3) เยอรมนี (5,966 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 8.6) (4) เนเธอร์แลนด์ (5,358 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 7.7) และ (5) จีน (2,960 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 4.3) ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 6 ของโลก (2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 4.1) โดยผู้นำเข้าสำคัญ 5 รายแรกของโลก คือ สหรัฐฯ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา มีสัดส่วนของมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 12.2 6.9 4.4 3.8 และ 3.5 ของมูลค่าการนำเข้าของทั้งโลก
เมื่อพิจารณารายสินค้า พบว่า สินค้ากลุ่มใหญ่สุดที่มีการส่งออก คือ กลุ่มอาหารปรุงแต่งฯ มีมูลค่า 52,916 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเยอรมนี รองลงมา คือ เครื่องดื่ม มีมูลค่า 13,289 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ไทย และเนเธอร์แลนด์ และโปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน มีมูลค่า 3,092 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และเนเธอร์แลนด์
การส่งออกของไทย ปี 2564 มีมูลค่า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้ากลุ่มใหญ่สุดที่ไทยส่งออก คือ (1) เครื่องดื่ม (พิกัดฯ 2202.99) มีมูลค่า 1,502 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 52.7) ตลาดส่งออกสำคัญ คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีน และ สปป.ลาว รองลงมา คือ (2) อาหารปรุงแต่งฯ (พิกัดฯ 2106.90) มีมูลค่า 1,347 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 47.2) ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ จีน เมียนมา ญี่ปุ่น และกัมพูชา และ (3) โปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน (พิกัดฯ 2106.10) มีมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.1) ตลาดส่งออกสำคัญ คือ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และเมียนมา ตามลำดับ
จากสถิติการค้าข้างต้น พบว่าไทยมีความเข้มแข็งในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม (พิกัดฯ 2202.99) ซึ่งนมจากพืชอยู่ในกลุ่มนี้ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าส่งออก 1,502 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากสวิตเซอร์แลนด์ (1,953 ล้านเหรียญสหรัฐ) และนมจากพืชเป็นสินค้ากลุ่มใหญ่สุดในตลาดอาหารโปรตีนจากพืช
ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกนมถั่วเหลืองเป็นหลัก ยังมีโอกาสที่ไทยสามารถพัฒนาสินค้านมจากพืชให้หลากหลายและช่วยสนับสนุนภาคเกษตรไทย อีกทั้งสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์นมที่ทำจากพืช เช่น เนย ชีส โยเกิร์ต และไอศกรีมสำหรับกลุ่มอาหารปรุงแต่ง (พิกัดฯ 2106.90) มีสินค้าสำคัญในกลุ่มนี้ที่ไทยส่งออก เช่น ครีมเทียม ในปี 2564 ไทยส่งออกครีมเทียมเป็นมูลค่า 323 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากพัฒนาสินค้าครีมเทียมของไทย เป็นครีมเทียมจากพืช ก็จะตอบโจทย์แนวโน้มตลาดที่มีความต้องการโปรตีนจากพืชมากขึ้น นมมะพร้าวออร์แกนิก เป็นอีกสินค้าที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ มีมูลค่าการส่งออกเติบโตสูง จาก 0.014 และ 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 2563 และ 2564 ตามลำดับ ขณะที่เต้าหู้ มูลค่าการส่งออกค่อนข้างคงตัว 2 - 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจากข้อมูลของ PBFA ในปี 2564 มูลค่ายอดขายสินค้าอาหารจากพืชในตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวทุกกลุ่ม ยกเว้น กลุ่มเต้าหู้และถั่วเหลืองหมัก ที่หดตัว
สินค้ากลุ่มโปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน (พิกัดฯ 2106.10) เช่น เนื้อจากจากพืช ผงโปรตีนจากพืช สินค้ากลุ่มนี้ ไทยยังมีมูลค่าการส่งออกน้อย สามารถพัฒนาศักยภาพการส่งออกและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะกลุ่มผงโปรตีนจากพืช ซึ่งการผลิตผงโปรตีนมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมากหากเทียบกับการผลิตเนื้อเทียมจากพืช สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยของไทยในการผลิตและส่งออกได้
นอกจากสินค้าโปรตีนจากพืช 3 กลุ่ม ที่กล่าวข้างต้นแล้ว สินค้าอาหารพร้อมทาน (Meals) เป็นสินค้าอีกกลุ่มที่มีศักยภาพสูง จากข้อมูลของ PBFA ในปี 2564 ยอดขายสินค้าอาหารพร้อมทานจากพืชในตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่า 513 ล้านเหรียญสหรัฐ (เป็นกลุ่มสำคัญรองจาก นมจากพืช เนื้อจากพืช และครีมจากพืช) ความสะดวกสบาย ความรีบเร่งของสังคมเมือง และความหลากหลายของสินค้าทำให้ตลาดอาหารพร้อมทานเติบโต ไทยสามารถนำเสนออัตลักษณ์อาหารไทย วัตถุดิบ เครื่องปรุง เครื่องเทศ สมุนไพรของไทย ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค สอดคล้องกับแนวโน้มสังคมสูงวัย และการเติบโตของกระแสรักสุขภาพ
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า กฎระเบียบเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง อาหารจากพืชมีประเด็น อาทิ การติดฉลาก (Labelling) รัฐบาลบางประเทศออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลาก (เช่น แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส ตุรกี อินเดีย และสหรัฐฯ ในบางมลรัฐ) เพื่อกำกับดูแลไม่ให้ผู้บริโภคสับสน เช่น ไม่ให้ฉลากอาหารจากพืชใช้ชื่อที่สื่อถึงความเป็นเนื้อสัตว์ จึงต้องศึกษาข้อมูลด้านการติดฉลากเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบประเทศนำเข้า นอกจากนี้ อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าข่ายเป็นอาหารใหม่ (Novel Food) ซึ่งหมายถึง อาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่ไม่เคยนำมาบริโภคเป็นอาหารมาก่อน มีประวัติการบริโภคเป็นอาหารมาไม่นาน หรือมีกระบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น สหภาพยุโรป มีกฎระเบียบ EU Novel Food Regulation 2015/2283 ในส่วนของไทยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel Food) เป็นต้น