“เฮียชูวิทย์” ดับเครื่องชนยันโครงการประมูลสุดอัปยศ เปิดแผนผังเส้นทางประมูล ล็อบบี้ศาลละเอียดยิบ แฉมีมีเงินทอนสะพัดกว่า 3 หมื่นล้าน พร้อมกระจายลงไปยังพรรคการเมืองใหม่ ด้านผู้ว่า รฟม. ออกโรงแจงพัลวัน ยันประมูลสายสีส้มโปร่งใส ไร้เงินทอน 3 หมื่นล้าน ด้านคดีความที่ถูกฟ้องล้วนมีคำพิพากษายกฟ้องเกือบทั้งหมด แม้แต่คดีหลัก ปัดล็อบบี้ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดพลิกคดี ขณะโลกโซเชียลถล่มกระบวนการยุติธรรมถึงจุดเสื่อม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ได้เปิดแถลงข่าวกลางทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวถึงโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมกับนำผังภูมิมาแสดงต่อสื่อมวลชน ระบุว่า
สถานีที่ 1 สถานีโกง มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลกลางอากาศทั้งที่ขายซองประมูลไปแล้ว
สถานีที่ 2 ทุจริต แม้จะมีผู้เข้าประมูลฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการประมูล และสั่งให้กลับไปดำเนินการตามหลักเกณฑ์เดิม ทั้งยังระบุกรณีปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก และยกเลิกประมูลก่อนหน้าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ แต่ รฟม. กลับยังคงเดินหน้าปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและจัดประมูลใหม่ เพราะมั่นใจว่าวิ่งศาลได้
ล่าสุดมีข่าวแว่วว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดที่ได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์ของ รฟม. ต่อกรณีคำตัดสินของศาลปกครองกลาง แม้จะยังไม่แถลงออกมา แต่คนธรรมดาอย่างตนยังรู้แล้วว่า มติที่จะออกมานั้น คือ 27 ต่อ 23 เสียงที่ไฟเขียวและกลับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ส่วนจะเคลียร์หรือวิ่งกันยังไง จ่ายกันอย่างไร ทุจริตยังไง ตนจะเอาออกมากระชากหน้ากากต่อไป “ส่วนศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้ออกคำพิพากษา ทำไมคนบ้านๆ อย่างผมยังรู้ล่วงหน้าว่าใน 50 ตุลาการ ชนะด้วยคะแนน 27:23 ชนะกันแค่ 4 เสียง เกินครึ่งมาแค่ 2 เสียง ทำเป็นเฉียดๆ เนียนๆ”
สถานีที่ 3 สถานีฮั้ว คือการเปิดประมูลใหม่ โดยการปั้นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ITD ที่ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถเข้าประมูลได้ให้เข้ามาประมูลได้ โดยมีการแก้ไข TOR ให้บริษัทเดินรถไฟฟ้าเข้ามาร่วมเพื่อให้มี่คุณสมบัติและแก้ไขให้เข้ายื่นประมูลเองได้ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ กรรมการผู้บริหารบริษัทติดคุก
สถานีที่ 4 สถานีเงินทอน จากเดิมที่โครงการนี้รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนแค่ 7,000 ล้าน แต่กลับยกเลิกแล้วประมูลใหม่เหลือผู้ประมูลแค่รายเดียวที่มี่คุณสมบัติแล้วมาล้วงเอาเงินภาษีประชาชนกว่า 70,000 ล้านบาทไปจ่ายให้แทน โดยมีเงินทอนกว่า 30,000 ล้าน ที่จ่ายผ่านธนาคาร HSBC ที่สิงคโปร์ซึ่งตนมีข้อมูลหมด
ส่วนสถานีที่ 5 ปลิว คือการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ TOR ล็อคสเปกให้บริษัทเดียวที่มีคุณสมบัติต้องมีผลงานกับรัฐบาล ซึ่งมีแค่รายเดียวเท่านั้นที่ได้โครงการนี้ไป และทำให้รัฐบาลจากเดิมที่จะจ่ายชดเชยโครงการนี้กว่า 70,000 ล้าน โดยมีเงินทอน 30,000 ล้าน ที่กระจายลงไปยังนักการเมือง และใครต่อใคร ซึ่งตนไม่โทษรัฐบาล ไม่โทษคนเหล่านั้น เพราะกำลังจะตั้งพรรคจำเป็นต้องใช้เงิน
ในเย็นวันเดียวกัน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดแถลงข่าวตอบโต้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ที่ออกมาเปิดแถลงต่อสื่อมวลชนกลางทำเนียบรัฐบาล แฉเส้นทางการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่ามีเงินทอนกว่า 30,000 ล้าน ที่กระจายลงไปยังผู้เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่า การประมูลโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส พร้อมขอชี้แจงกรณีดังกล่าวแยกเป็น 5 ประเด็นดังนี้
1. ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกครั้งที่ 1 รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน(อาร์เอฟพี) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นนี้ที่มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครองมีความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารอาร์เอฟพีเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับความเสียหาย และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
ส่วนเรื่องที่นายชูวิทย์ ได้กล่าวพาดพิงถึงมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือเป็นกระบวนการภายในของศาลปกครองที่ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องรอให้ปรากฏในคำพิพากษา
2. ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในครั้งแรก (3 ก.พ. 64) ซึ่งมีคดีฟ้องร้องในศาลปกครองเช่นกันนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงสรุปต่อที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
3. ประเด็นการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่มีการล็อกสเปก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขัน และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใด จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว
4. ประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง และเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือไม่ ซึ่งมีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิก การคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใด จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
5. ประเด็นมีเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคารในสิงคโปร์นั้น รฟม. ขอเรียนว่า หากนายชูวิทย์มีหลักฐาน ก็ขอให้นำมาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ การดำเนินการประกาศเชิญชวน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกถูกฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนต่อไป