ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาโพสต์ประเด็นร้อนปมประมูลรถไฟฟ้าสีส้มฉาว โดยระบุว่า..
ผมเห็นด้วยทุกประเด็นที่คุณชูวิทย์แฉเรื่องล็อคสเปก - ฮั้วประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ประเทศอาจต้องเสียประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท (แฉที่หน้ากระทรวงคมนาคม 24/2/66)
เชื่อว่าผู้บริหาร นักการเมืองใน รฟม. และกระทรวงคมนาคม คงจะออกมาชี้แจงเหมือนเดิม โดยอ้างว่า ที่ทำมาโปร่งใสดีแล้ว เพราะมีตัวแทนประชาชนตาม “โครงการข้อตกลงคุณธรรม” ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระอยู่ ข้ออ้างเช่นนี้ “น่าหงุดหงิด” มาก
เพื่อความเข้าใจของทุกท่าน ผมขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้
การประมูลรอบแรก ที่ถูกยกเลิกไปอย่างสิ้นไร้ความสง่างามนั้น ยัง “ไม่มี” การใช้ข้อตกลงคุณธรรม
การประมูลรอบที่สอง มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม แต่เป็น “กติกาใหม่” ไม่ใช่กติกาตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ และมาตรฐานสากลที่ปฏิบัติกันมา ตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าทำหน้าที่สังเกตการณ์อิสระถูกจำกัดบทบาทและสิทธิ์การมีส่วนร่วม และสิทธิ์การรับรู้อย่างโปร่งใสหลายประการ กล่าวคือ..
1. ผู้สังเกตการณ์ฯ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนของโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว
2. มีการนำ “ทีโออาร์เก่า” จากการประมูลรอบแรกมาใช้โดยแก้ไขบางประเด็น (คุณชูวิทย์ชี้ประเด็นแก้ไขเพื่อล็อกสเปกไว้แล้ว) ผู้สังเกตการณ์ฯ จึงแทบไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาทีโออาร์เลย
3. การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ฯ ตั้งแต่เริ่ม ไม่ได้รับความร่วมมือ – สนับสนุนอย่างเพียงพอจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เมื่อเทียบกับโครงการอื่นอีกกว่าร้อยโครงการที่ผ่านมา
4. การประมูลรอบสอง มีการพิจารณาซองจากผู้ประมูลรายเดียว ผู้สังเกตการณ์ฯ จึงไม่สามารถศึกษาเปรียบเทียบและให้ความเห็นได้ อีกทั้งยังถูกห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลใดๆ ด้วย
5. ในโครงการสายสีส้มนี้ ข้อตกลงคุณธรรม ถูกจำกัดเพียงแค่ขั้นตอนการหาผู้ร่วมลงทุนหรือการประมูลเท่านั้น แต่ขั้นตอนการร่างสัญญา การทำหรือแก้ไขสัญญา การดำเนินการให้เป็นตามสัญญา (บริหารสัญญา) จนเสร็จสิ้นโครงการ ถูกตัดออกไป
“คณะผู้สังเกตการณ์อิสระทั้ง 5 ท่าน” จึงปฏิบัติหน้าที่โดยครบถ้วน ตามกรอบอำนาจที่มี เงื่อนไขที่ถูกจำกัด ระยะเวลากระชั้นชิด ด้วยข้อมูลเท่าที่รู้เห็นและเขายอมเปิดเผยมา
ที่ผ่านมา ACT ยังไม่เคยชี้ว่า ใครคอร์รัปชัน ล็อกสเปกหรือฮั้วประมูลในโครงการนี้ แต่จากพฤติการณ์ที่ปรากฏ จึงได้เรียกร้องไว้ดังนี้..
1) ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการตรวจสอบเบื้องหน้าเบื้องหลังว่า โปร่งใส เป็นธรรมจริงหรือไม่ แล้วรายงานต่อประชาชนโดยเร็ว
2) คณะกรรมการ พีพีพี คณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกฯ บุคคลที่เป็นกรรมการทุกคนที่เกี่ยวกับโครงการนี้ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นให้สมกับตำแหน่ง เงินเดือน เบี้ยประชุม และทุกสิ่งที่ได้ไป
3) ป.ป.ช. และหน่วยตรวจสอบของรัฐต้องเข้ามาสอบสวนก่อนที่ประเทศจะเสียหาย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมแล้ว 156 โครงการ มูลค่ารวม 1.97 ล้านล้านบาท ดำเนินการจนมีการลงนามในสัญญาแล้ว 115 โครงการ ช่วยให้ประหยัดเงินของแผ่นดินได้ 74,425 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้สังเกตการณ์ 256 ท่าน