น่าชื่นชม! กรมส่งเสริมการเกษตรโชว์ผลป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนภาคตะวันออกได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ เตรียมส่งต่อโมเดลชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัดสู่ภาคใต้
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนจังหวัดในภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และภาคเอกชน ในการร่วมกันผลักดันการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) อย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่ดีต่อทุเรียนไทยว่า เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยในช่วงสองเดือนแรก พบว่า มียอดการส่งออกสูงถึง 4.7 แสนตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ทุเรียนภาคตะวันออกใกล้จะสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตแล้ว โดยในปีนี้ได้ประมาณการผลผลิตไว้ที่ 782,942 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 612,552.56 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.24 ราคาผลผลิตเกรด A อยู่ที่ 186.67 บาท/กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565) โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายนนี้
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียน ปี 2566 ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด ในแต่ละพันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566 2) พันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566 และ 3) พันธุ์หมอนทอง วันที่ 15 เมษายน 2566 โดยกำหนดให้มีมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) เป็นกลไกในการสนับสนุนการปฏิบัติในการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อให้เกษตรกร มือตัด แผงรับซื้อ ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตัด การซื้อขายทุเรียน และยกระดับคุณภาพทุเรียน โดยได้ดำเนินการ 1) กำหนดจุดบริการตรวจก่อนตัด 2) เกษตรกรและนักตัดทุเรียน ต้องเก็บตัวอย่างทุเรียนในส่วนของตนเอง หรือสวนที่จะตัดและนำไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนตัดอย่างน้อย 3 วัน ณ จุดบริการตรวจก่อนตัด 3) จุดบริการตรวจก่อนตัด ต้องออกหนังสือรับรองให้เกษตรกร 4) สถานประกอบการ (ล้ง) ต้องสื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 5) ชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร ต้องเรียกดูหนังสือรับรองตรวจก่อนตัด 6) แผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจแผงรับซื้อ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน เป็นกลไกสำคัญในการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานนักคัดนักตัดทุเรียน โดยผู้ทำหน้าที่เก็บเกี่ยวทุเรียน ทั้งที่เป็นเกษตรกร นักคัดนักตัดอิสระ นักคัดนักตัดของ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ตลอดจนผู้มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นนักคัดนักตัดทุเรียน จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัด) ภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2566 พบว่ามีเกษตรกรมารับบริการรวม 10,760 ราย ตัวอย่างส่งตรวจ 14,446 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 9,258 ไม่ผ่านเกณฑ์ 5,183 สำหรับผลการดำเนินการสุ่มตรวจความสุกแก่ของทุเรียนในโรงคัดบรรจุ 528 แห่ง สุ่มตรวจทั้งสิ้น 4,998 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 4,683 คิดเป็นร้อยละ 97.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชี้ชัดว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี จึงพร้อมส่งต่อโมเดลชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัดนี้ต่อไปยังภาคใต้ ซึ่งผลผลิตในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมากสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 โดยทุเรียนภาคใต้ปีนี้ มีเนื้อที่ยืนต้น 726,369 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 7.27 เนื้อที่ให้ผล 547,225 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 คาดว่าจะมีผลผลิตรวม 667,338 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.73 และมีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 1,219 กิโลกรัม/ไร่