นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียนในระดับพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมกับ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดสำคัญและเสนอแนวทางแก้ไขในการดำเนินงานหน่วยงานในระดับพื้นที่ภาคตะวันออก (จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด) โดยมี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตราด เกษตรจังหวัดจันทบุรี หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ภาคเอกชน อาทิ นายกสมาคมทุเรียนไทย สมาคมธุรกิจเกษตรไทย-จีน (TDA) สมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้ายุคใหม่ (MAFTA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สมาพันธุ์ชาวสวนทุเรียนไทย และนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุด เข้าร่วม ณ ห้องประชุมตากสิน ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ร่วมกันในการถอดบทเรียนความสำเร็จทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อยกระดับจัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้นและใช้เป็นโมเดลในการทำงานควบคุมคุณภาพทุเรียนต่อไป พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานได้บูรณาการความร่วมมือกันทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) มือตัด และมหาวิทยาลัยในจังหวัด โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะยกระดับคุณภาพทุเรียนของภาคตะวันออก และจังหวัดจันทบุรี ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นการทำงานในรูปแบบของคณะทำงาน มีการบูรณาการของทุกภาคส่วน และการดำเนินการจะไม่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ในคณะทำงานจะมีหน่วยงานหลักเป็นผู้รับผิดชอบ ตลอดจนความทุ่มเทและเสียสละของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกจุดบริการ และทุกคณะทำงาน
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมกระบวนการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า และแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และขอชื่นชมการทำงานของทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันดำเนินการจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ทุเรียนภาคตะวันออกเป็นต้นแบบของทั้งประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งขณะนี้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.66 – 13 ก.ค.66 รวมการส่งออก 45,775 ชิปเมนต์ ปริมาณ 765,985.95 ตัน มูลค่า 99,390.68 ล้านบาท และตั้งเป้าให้ถึง 2 แสนล้านบาทภายในปี 2566 นี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าทุเรียนภาคตะวันออก เป็นทุเรียนมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานส่งออก มีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดจีนรวมไปถึงตลาดทั่วโลกได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมทั้งมอบหมายให้ที่ประชุมศึกษาแนวทางการจัดทำแอปพลิเคชันมาใช้ควบคุมการผลิตทุเรียน โดยพิจารณาถึงกฎหมาย ระเบียบอย่างรอบคอบ” รองปลัดฯ สุรเดช กล่าว
สำหรับการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก “จันทบุรีโมเดล” ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การเตรียมความพร้อมในระดับจังหวัดและส่วนกลาง 1.1) ระดับจังหวัด ประชุมหารือและบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่าง จังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการที่จะมาใช้ในพื้นที่ โดยมีประกาศจังหวัดจันทบุรี อาทิ เรื่องกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 เรื่องกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เรื่องขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัดจันทบุรี เรื่องการขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน และแต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ตลอดจน แต่งตั้งคณะอำนวยการและคณะทำงานตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมกับคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 1.2) ส่วนกลาง ระดับกระทรวง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ระดับกรม กรมวิชาการเกษตร ออกคำสั่ง/ประกาศ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. กำหนดมาตรการ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 2.1 มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) 2.2 การขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน 2.3 มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) และ 2.4 มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดในประเทศ (ค้าส่ง-ค้าปลีก) 3. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ และบุคคลทั่วไป 4. จัดประชุมอบรมผู้เกี่ยวข้อง ประชุมเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ พัฒนาทักษะ Q.C โรงคัดบรรจุ และนักคัดนักตัด และ 5. ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงาน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพป้องกันปัญหาผลผลิตทุเรียน และมังคุด (War Room) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน และรายงานสถานการณ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพทุเรียน และลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน