นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมกระบวนการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมทุเรียนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ผลผลิตทุเรียนภาคใต้เริ่มมีปริมาณลดลง แต่จะยังคงมีผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดยะลา ปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส) และผลผลิตทุเรียนจากนอกพื้นที่ภาคใต้นำมาจำหน่ายให้กับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ได้รับรายงานว่า นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร บูรณาการตรวจเข้มล้ง-แผงทุเรียน โดยชุดปฏิบัติการได้สุ่มตรวจคุณภาพทุเรียนจากสถานประกอบการ 5 แห่ง ในอำเภอทุ่งตะโกและอำเภอหลังสวน เพื่อตรวจคุณภาพเนื้อทุเรียน เปอร์เซนต์แป้ง รวมถึงร่องรอยหนอนเจาะ ป้องปรามการลักลอบซื้อ-ขายทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งทุเรียนที่ซื้อขายในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนจากต่างจังหวัด ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป โดยเฉพาะมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 80 % และสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีการคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกตามมาตรฐาน แต่จากการตรวจสอบอย่างละเอียด พบแผงทุเรียนบางแห่ง ยังคงตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ทุเรียนหนอนเจาะ และทุเรียนอ่อนอยู่บ้าง (เปอร์เซนต์น้ำหนักแห้งไม่ถึง 32 %) จึงเข้าดำเนินการตามมาตรการพ่นกากบาทสีแดงเป็นสัญลักษณ์ทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันการนำไปขายปะปนกับทุเรียนคุณภาพต่อไป
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและชื่อเสียงของผลผลิตทุเรียนของไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 4 - 7 ติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ สนับสนุนการแก้ไขปัญหา และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. คงความเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ระดับสวน จนถึงโรงคัดบรรจุ โดยต้องมีใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และปลอดศัตรูพืช ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดตามพิธีสาร
2. ขอความร่วมมือเกษตรกร และมือตัดไม่ตัดทุเรียนอ่อน โรงคัดบรรจุไม่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อป้องกันไม่ให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด และรักษาคุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนไทยเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ให้เร่งดำเนินการยื่นขอกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออก
3. ประชาสัมพันธ์ รณรงค์อย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนอาทิ ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่น โรงคัดบรรจุ (ล้ง) มือตัด และเกษตรกร ในการร่วมกันรักษาคุณภาพทุเรียนด้วยมาตรการสมัครใจ พร้อมทั้งการสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม (Soft Power) ควบคู่ไปกับการบังคับของภาครัฐ โดยให้ทุกฝ่ายซื่อสัตย์และรักษาคุณภาพของผลผลิต ซึ่งส่งผลให้ทุเรียนของไทยเป็นที่นิยมและราคาสูงตลอดฤดูกาล
สำหรับสถานการณ์การส่งออกทุเรียนของประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 47,152 ชิปเมนท์ แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 32,027 ชิปเมนท์ และภาคใต้ 15,125 ชิปเมนท์