ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ หารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานสำนักงานอาหารและยาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority: SFDA) นำโดย Ms.Alaa F. Sendi ตำแหน่ง Executive Director of International Cooperation และคณะเจ้าหน้าที่ SFDA ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด เข้าร่วม ณ สำนักงาน SFDA ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายไทยได้เร่งติดตามประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยไปยังซาอุฯ ได้แก่ 1) ความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนโรงงานเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแปรรูป ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง สินค้าประมงและสินค้าสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง 2) ความคืบหน้าการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง และ 3) ความคืบหน้าการขอเปิดตลาดสินค้าสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ กุ้งกุลาดำ และปลานิล ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยเคยมีการส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของซาอุดีอาระเบีย จึงทำให้ประเทศไทยต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งฝ่ายไทยได้ดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ SFDA แจ้งว่า ปัจจุบัน SFDA ได้ขึ้นทะเบียนให้ผู้ประกอบการสินค้าประมงของไทย จำนวน 57 ราย ผู้ประกอบการเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ จำนวน 20 ราย ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง จำนวน 3 ราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก SFDA ได้รับคำขอการขึ้นทะเบียนและเปิดตลาดจากประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคำร้องขอต่าง ๆ จากฝ่ายไทย ทาง SFDA จึงขอให้ฝ่ายไทยรวบรวมและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยัง SFDA อีกครั้ง เพื่อจะได้เร่งรัดการพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกหรือลดค่าธรรมเนียมการตรวจประเมินสถานประกอบการเนื้อโคและเนื้อแพะสำหรับการส่งออก ซึ่งฝ่าย SFDA แจ้งว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นผู้กำหนดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่ง SFDA ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม SFDA สามารถให้ความช่วยเหลือฝ่ายไทยได้ โดยการจัดสัมมนาผ่านระบบทางไกล เพื่อให้ข้อมูลด้านแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎระเบียบแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียสำหรับสถานประกอบการต่าง ๆ อาทิ สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ รวมทั้งการให้ข้อมูลการขอจัดทำการตรวจประเมินเชิงระบบ โดยให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของไทย เป็นผู้ทำการรับรองโรงงานแทนต่อไป