ตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่วุ่นไม่เลิก หลัง 4 กสทช.เสียงข้างมากแก้เกมส์ลากตั้งเลขาธิการใบสั่ง ร่อนหนังสือค้าน 3 หน้ากระดาษถึงประธาน “ติดเบรก” ก่อนประชุม ย้ำชัดกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง-การถูกฟ้องคดียังไม่สิ้นสุด ยันไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งมีส่วนได้เสีย ชี้ตัวประธานเองคือผู้มีส่วนได้เสีย
เส้นทางการแต่งตั้งเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คนใหม่ ยังคงวุ่นไม่เลิก หลัง 4 กสทช.เสียงข้างมาก ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ถูกรักษาการเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตกล่าวหาว่า ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ตนได้รับความเสียหาย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จนส่งผลกระทบต่อการได้รับการพิจารณาให่เป็นเลขาธิการ กสทช. ทั้งนี้เพื่อหวังสกัดไม่ให้ กสทช. ทั้ง 4 รายมีสิทธิ์ร่วมโหวตคัดค้านการพิจารณาให้ความผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเลขาธิการคนใหม่นั้น
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ก่อนการประชุมบอร์ด กสทช. สัญจรเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระที่ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการคนใหม่ คือ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการฯ และรักษาการเลขาธิการในปัจจุบัน เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. ให้ความเห็นชอบ แต่ก่อนที่การประชุมจะมีขึ้น ปรากฏว่า กสทช. ทั้ง 4 ราย ได้ส่งบันทึกข้อความ ลงวันที่ 21 ก.ย.2566 ถึงประธาน กสทช. เพื่อทักท้วงกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ในครั้งนี้
ชี้กระบวนการสรรหามิชอบด้วย กม.
โดยระบุว่า ตามที่ประธาน กสทช. ได้บรรจุวาระการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 18/2566 โดยมีข้อเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบ (ประธานจะเสนอชื่อนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ในที่ประชุมโดยตรง) ให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ขอเรียนว่า
1. กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. โดยที่ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งประธาน กสทช. ได้กล่าวว่า เป็นอำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวนั้น กรรมการทั้ง 4 คนได้ทำการคัดค้านมาโดยตลอด ถึงอำนาจและกระบวนการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่โปร่งใส ทั้งการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่นำเรียนต่อประธาน กสทช. และโดยวาจาที่ได้มีการนำเสนอในที่ประชุม กสทช.
โดยได้มีการขอให้ประธาน กสทช. ยุติกระบวนการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใสดังกล่าว แต่ประธาน กสทช. ก็นิ่งเฉย และได้ดำเนินกระบวนการกระทั่ง ได้ทำการคัดเลือกบุคคลและจะนำเสนอรายชื่อนั้นต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่า กระบวนการคัดเลือกของประธาน กสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส ประกอบกับปัจจุบันมีกรณีที่บุคคลผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. จำนวน 4 คน ทำการโต้แย้งคัดค้านถึงการดำเนินการคัดเลือกดังกล่าว หากประธาน กสทช. ยังคงนิ่งเฉย และดำเนินกระบวนการต่อไป อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จนมิอาจแก้ไขเยียวยาได้
2. การมีส่วนได้เสียของกรรมการทั้ง 4 คน แม้ว่าจะได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าปัจจุบัน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และอาจเป็นบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ได้ทำการฟ้องกรรมการทั้ง 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นกลางแต่อย่างใด เนื่องจากศาลฯยังมิได้วินิจฉัยจนถึงที่สุดว่ากรรมการทั้ง 4 คน ทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่
ทั้งนี้ หากพิจารณาว่าเมื่อกรรมการผู้ใดถูกฟ้องแล้ว กรรมการคนนั้นจะตกเป็นผู้มีส่วนได้เสียทันทีย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลแกล้งฟ้องหรือร้องเรียน กรรมการเพื่อมิให้กรรมการมีอำนาจพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนในอนาคตได้ ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้แล้วว่า แม้ผู้ทำคำสั่งทางปกครองจะถูกผู้ตกอยู่ภายใต้คำสั่งฟ้องคดี แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีหลักฐานใดที่สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมว่ากรณีดังกล่าวทำให้การพิจารณาออกคำสั่ง มีสภาพร้ายแรงจนเสียความเป็นกลางผู้ออกคำสั่งย่อมสามารถออกคำสั่งได้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.536/2554
3. การมีส่วนได้เสียของประธาน กสทช. กรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่า ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธาน กสทช. ย่อมเป็นกรณีที่ประธาน กสทช. เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ประธาน กสทช.จะเสนอชื่อในครั้งนี้ได้เสียเอง เนื่องจากประธาน กสทช.เป็นผู้ที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกด้วยตนเองทั้งหมด ตั้งแต่การออกประกาศรับสมัคร การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อ กสทช. และจะทำการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่ประธาน กสทช. จะทำการเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์ที่ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เข้าใจว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกบางคนตามที่ได้มีหนังสือนำเรียนประธาน กสทช. ไปแล้ว
ฟ้องอาญาทุจริตแก้เกี้ยว-สกัดโหวต?
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตกรณีที่นายไตรรัตน์ยื่นฟ้อง 4 กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยตรงก่อนหน้านี้ ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปโดยชอบหรือไม่
เพราะมติ กสทช. เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 และ 9 มิ.ย.2566 ที่มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนรักษาการเลขาธิการ กสทช. (นายไตรรัตน์) และตั้งกรรมการสอบวินัยกรณีอนุมัติเงินกองทุนวิจัยฯ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาทนั้น เป็นคำสั่งปกครอง หากนายไตรรัตน์ได้รับความเสียหายจากมติดังกล่าวก็ชอบที่จะเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง มากกว่า การยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ หรือไม่
และหากจะกล่าวหา 4 กสทช. ที่ร่วมกันผลักดันมติ กสทช.ข้างต้นว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ก็น่าจะต้องร้องต่อ ป.ป.ช.โดยตรงหรือไม่ เช่นเดียวกับเครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องทุจริต รักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีจัดทำรายงานบิดเบือน เสนอบอร์ด กสทช. เพื่ออนุมัติดีลควบรวมทรู-ดีแทคก่อนหน้า แต่นายไตรรัตน์กลับดำเนินการยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยตรง ทั้งที่เป็นการร้องตาม พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ พ.ศ.2561 แต่กลับไม่มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและชี้มูลความผิดใด ๆ ก่อน