1 ในโครงการลงทุนที่เป็นแม่เหล็กสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ โครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 224,544 ล้านบาทนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายของการชี้ชะตาโครงการนี้ จะอยู่หรือไป?
…
หลังจากที่ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว นับแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในสัญญากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มทุน ซีพี. เมื่อ 24 ต.ค. 62 แต่จนถึงวันนี้กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
ที่เห็นและเป็นไปมีแต่ความพยายามเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน แก้ไขกันจนปรุ จนแทบไม่เหลือเค้าลางของสัญญาร่วมลงทุนที่มีการประมูลกันไว้ตั้งแต่แรก ด้วยข้ออ้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่เป็น "เหตุสุดวิสัย"
ทั้งที่โครงการลงทุนรัฐอื่นๆ ไม่ยักจะมีรายไหนหยิบยกมาเป็นข้ออ้างขอแก้สัญญากันเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้
จนหลายฝ่ายสัพยอก สกพอ. และรัฐบาลว่า นี่หากรัฐบาลไทยระหองระแหงกับกัมพูชาในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรใต้ทะเลบนพื้นที่ทับซ้อนรอบเกาะกูด จนลาวยาวกันไปสัก 5-10 ปี ก็ไม่รู้จะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาขอให้รัฐผ่อนปรนหรือแก้ไขสัญญาสัมปทานในประเด็นอื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่?
ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเองว่า เหตุผลในการขอแก้ไขสัญญานี้ที่อ้างเป็น "เหตุสุดวิสัย" นั้น มองว่าเรื่องนี้ไม่มีเหตุสุดวิสัย เป็นเพียงการผ่อนปรน เพราะในช่วงโควิด-19 ทุกภาคส่วนและทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหยุดชะงัก ธุรกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็หยุดชะงัก
"โครงการนี้ไม่ได้มีเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในสัญญา โดยสัญญาจะกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน เป็นการแบ่งจ่ายระยะเวลา 10 ปี โดยทางผู้รับสัมปทานจะมีการนำเอกสารทางการเงินเต็มจำนวนมาวางค้ำประกัน"
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. ก็ออกตัวหลังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้ใน 5 ประเด็นไปก่อนหน้า เพื่อผลักดันโครงการดำเนินการต่อไปได้ แต่จนกระทั้งบัดนี้ยังไม่มีการนำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ จนส่งผลให้เกิดความล่าช้า และอาจกระทบแผนการลงทุนในโครงการอื่น ๆ ด้วยว่า
หากท้ายที่สุดรัฐบาลไม่เห็นชอบกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานและสั่งให้รถไฟดำเนินโครงการต่อ รฟท. ก็พร้อมดำเนินการก่อสร้างเอง แต่คงไม่ขอเดินรถเอง หากคู่สัญญา “เอเชีย เอรา วัน” ไม่สามารถดำเนินโครงการได้
ฟังเหตุผลของผู้ว่า รฟท. และประธาน กพอ. ข้างต้นแล้ว ก็ไม่รู้นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะมองเห็นความไม่ชอบมาพากลที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้พรมภายใต้ข้อเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานไฮสปีดเทรนครั้งนี้หรือไม่ ?
เหตุใดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงออกโรงทักท้วงว่า แนวทางแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำลายหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยังแต่จะทำให้รัฐเสียประโยชน์ ทั้งในอนาคตยังอาจทำให้รัฐต้องเผชิญกับค่าโง่ตามมาด้วยอีก
การที่ประธาน กพอ. ออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นว่า เหตุผลในการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการ เพียงเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเป็นโครงการสำคัญของอีอีซี ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยที่มาจากพวงวิกฤตเศรษฐกิจหรือไวรัสโควิดแต่อย่างใดนั้น
สะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่า ความพยายามในการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้รังแต่จะเรียกแขกให้งานเข้าและหากในอนาคตเกิดปัญหาขึ้น หนีไม่พ้นที่ รฟท. และรัฐบาลเองนั่นแหละจะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ
และหากรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขสัญญา รฟท. ก็บอกเองว่า พร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการเอง เพราะมีประสบการณ์ในการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนอยู่แล้ว (เพียงแต่รัฐต้องจัดหางบประมาณก่อสร้างให้ เพราะ รฟท. คงไม่สามารถจะจัดสรรงบลงทุนเองได้) แล้วเหตุใดถึงจะให้เอกชน "จับเสือมือเปล่า" จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่กำลังดั้นเมฆอยู่นี้
จะว่าไป รฟท. เอง ก็มีการตั้งที่ปรึกษาและคณะที่ปรึกษาด้านต่างๆ เต็มลำเรืออยู่ไม่ใช่หรือ อย่างคณะทำงานศึกษาด้านกฎหมายและสัญญา ที่มีนายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว เป็นประธาน คณะทำงานศึกษาติดตามปัญหาการดำเนินโครงการของการรถไฟ ที่มีนายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง. เป็นประธานด้วยอีก
ก็แล้วเหตุใดจึงไม่ส่งเรื่องแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ ให้คณะทำงานทั้ง 2 ชุดได้ชำแหละออกมาให้รู้ดำรู้แดง จะได้รู้ว่าการแก้ไขสัญญาที่ดำเนินการไปก่อนหน้าและที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ทำลายหลักการร่วมลงทุนทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ สกพอ. และ กพอ. มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยลำพังหรือไม่
ไม่แปลกใจเลย ที่เหตุใดกรณีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน "เขากระโดง" ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ตั้งแต่ปีมะโว้ แต่กลับไม่สามารถจะบังคับใช้กฎหมายให้สะเด็ดน้ำ จนป่านนี้ยังไม่สามารถผลักดันนายทุนผู้มีอิทธิพล หรือนักการเมืองออกจากพื้นที่ได้
แล้วอย่างนี้จะให้ประชาชนคนไทยเชื่อใจได้อย่างไรว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานไฮสปีดเรนเชื่อม 3 สนามบิน ที่กำลังดั้นเมฆดำเนินการอยู่นี้จะยังประโยชน์ให้รัฐ หรือไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือเผชิญค่าโง่ในภายหลังเอาได้ จริงไม่จริง!!!