เปิดแชมเปญฉลองความสำเร็จในการกอบกู้ชาติขนานใหญ่....
หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อ 18 กันยายน ที่ผ่านมาพิพากษาให้ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม ชนะคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ไม่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายให้คู่สัญญา บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามที่บริษัทเรียกร้อง ด้วยเหตุบริษัทใช้สิทธิ์เรียกร้องและยื่นฟ้องคดีพิพาทหลังคดี“ขาดอายุความ”ตามกฎหมาย จึงทำให้สิทธิ์เรียกร้องความเสียหายของบริษัทสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย
จากเดิมที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 ที่ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ ชดใช้ความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทานมิชอบไม่เป็นไปตามสัญญาที่มีอยู่ โดยมีคำวินิจฉัยให้ต้องชดเชยความเสียหาย 11,888 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) รวมแล้วคิดเป็นมูลหนี้วันนี้กว่า 27,000 ล้านบาท
ในรายละเอียดแถลงการณ์ของศาลระบุว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐ (การรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม) ที่อ้างว่าได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทตั้งแต่ 27 ม.ค 2541 หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การก่อสร้างมีความล่าช้ามาก โครงการไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัท และบริษัทได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อ 30 ม.ค. 2541
ซึ่งตามกฎหมายในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 จึงต้องเสนอภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 เมื่อบริษัทได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 ม.ค. 2542 แต่บริษัทกลับไม่ได้ดำเนินการตามกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว
แม้ต่อมาศาลปกครองจะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง โดยขยายเวลาขึ้นมาเป็น 5 ปี แต่บริษัทซึ่งนำคดีเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการเมื่อ 29 พ.ย 47 ซึ่งถือว่าล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 5 ปีตามกฎหมายกำหนดไปแล้ว จึงถือว่าคำฟ้องคดีพิพาทขาดอายุความไปแล้วตามกฎหมาย จึงพิพากษาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ รถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ไม่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้อง เพราะถือว่าสิทธิ์เรียกร้องของบริษัทสิ้นสุดลงไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน ได้แสดงความเห็นถึงคำพิพากษาข้างต้นว่า เชื่อแน่ว่าคดีคงไม่จบลงเพียงเท่านี้ บริษัทโฮปเวลล์ คงใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด และคงยืนยันประเด็นการยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและเงื่อนเวลาทุกประการ
โดยประเด็นที่เชื่อแน่ว่า โฮปเวลล์คงจะหยิบขึ้นโต้แย้ง ก็คือ แม้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค 2541 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบอกเลิกสัญญากับบริษัทตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอเมื่อ 20 ม.ค. 2541 พร้อมกับสำทับห้ามมิให้บริษัทโฮปเวลล์และบริวารเข้าดำเนินการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่สัมปทาน รวมทั้งริบเงินค่าตอบแทนสัญญาจำนวน 2,850 ล้าน ทั้งยังริบหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันสัญญา
แต่บริษัทโฮปเวลล์ที่ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 ก็หาได้ยอมรับการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว โดยได้ทำหนังสือได้โต้แย้งประเด็นการบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายรัฐว่า ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา อีกทั้งประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดต้องยกเลิกสัญญา เนื่องจากสัญญาสัมปทานมีกระบวนการที่ระบุไว้เฉพาะ ซึ่งต้องปฏิบัติตามก่อนบอกเลิกสัญญา การบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการขอให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ปฏิบัติตามสัญญาผูกพันที่มีอยู่
แต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังคงยืนยันเจตนาการเลิกสัญญา และถือว่าสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีการโต้แย้งกันไปมาอีกหลายปี ขณะที่ในส่วนของการรถไฟฯ แม้จะบอกเลิกสัญญาสัมปทานไปก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่สัมปทานเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี กว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการหลังบอกเลิกสัญญา
ก่อนที่บริษัทโฮปเวลล์จะตัดสินใจยื่นข้อพิพาทเพื่อเรียกร้องให้ “ต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิม” อันเนื่องมาจากการเลิกสัญญา และให้คู่สัญญารัฐคืนเงินค่าตอบแทน 2,850 ล้านบาท แก่บริษัทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 5,143.5 ล้านบาท กับให้ชดใช้เงินลงทุนที่บริษัทดำเนินการไปแล้วจำนวน 14,818 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 28,334.66 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระบริษัทแล้วเสร็จ เมื่อ 24 พ.ย. 2547
ขณะที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้ยื่นคัดค้าน โดยระบุว่า คำเสนอพิพาทของบริษัทขาดอายุความไปแล้ว บริษัทไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ เนื่องจากพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีพิพาทตามมาตรา 51 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากสัญญาได้เลิกกันแล้ว อีกทั้งบริษัทไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายได้ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ได้ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน จึงไม่ต้องชดใช้ค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท
สะท้อนให้เห็นว่า ข้อโต้แย้งของการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ต่อประเด็นคำฟ้องพิพาทขาดอายุความนั้น การรถไฟและกระทรวงคมนาคมหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทั้งยังสำทับซ้ำว่า บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิ์ยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เพราะคู่สัญญาฝ่ายรัฐไม่ได้ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่เป็นการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ม.388 ปพพ.)
ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยเมื่อ 24 พ.ย. 2551 ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ (การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม) คืนเงินค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานจำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งให้ร่วมกันชดใช้เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท แก่บริษัท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ
คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า อนุญาโตตุลาการได้พิจารณาบรรดาข้อโต้แย้งของการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ต่อประเด็นฟ้องพิพาทขาดอายุความนี้แล้ว แต่ยังคงมีความเห็นว่า การที่ผู้ร้องทั้งสอง (รฟท. และกระทรวงคมนาคม) ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาและสั่งห้ามผู้คัดค้านเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมริบเงินค่าตอบแทน และหลักประกันสัญญา ในขณะที่ผู้คัดค้าน (บริษัทโฮปเวลล์) ก็ออกโรงโต้แย้งมาโดยตลอดว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญานั้น แสดงให้เห็นว่า มีข้อพิพาทเกิดขึ้น และก่อนเสนอข้อพิพาท บริษัทโฮปเวลล์ ได้ขอให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐทั้งสองระงับข้อพิพาท โดยการเจรจาประนีประนอมยอมความกันแล้ว แต่คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้เพิกเฉย ไม่ยอมเจรจาโดยยังคงยืนยันว่า สัญญาสิ้นสุดลงไปแล้ว คู่สัญญาเอกชนย่อมมีสิทธิ์นำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดได้
“หากบริษัทโฮปเวลล์สามารถแสดงหนังสือตอบโต้กันไปมาระหว่างบริษัทกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐ รวมทั้งมีการประชุมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน จะเป็นประเด็นหักล้าง ที่สะท้อนให้เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายรัฐนั้นยังไม่สะเด็ดน้ำ และทั้งสองฝ่ายยังคงมีหนังสือตอบโต้กันไปมาเพื่อแสวงหาทางออกระหว่างกัน"
อีกทั้งหากคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ยืนยันว่า คู่สัญญาเอกชน คือ โฮปไวลล์ ไม่สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องได้ เพราะไม่เป็นการใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการบอกเลิกสัญญาตามกฎหมายอื่น (ม.388 ปพพ.) ผลของการบอกเลิกสัญญาตามกฎหมายดังกล่าว ยิ่งทำให้เส้นทางการบอกเลิกสัญญานั้น จะต้องเป็นไปตาม ม.391 ที่คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สถานะเดิมโดยอัตโนมัติ นั่นหมายถึง บริษัทโฮปเวลล์ต้องรื้อโครงสร้างส่วนที่ตนลงทุนไปกลับคืน ขณะที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐก็ต้องคืนเม็ดเงินผลประโยชน์ และหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ได้รับไปก่อนหน้าให้แก่บริษัทเช่นกัน
ถึงบรรทัดนี้ คงพอจะเห็นเค้าราง การที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ตีปี๊บว่า “มีหลักฐานใหม่” มีเอกสารใหม่ที่ยืนยันว่า สามารถจะรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ที่ว่านี้ได้ ก่อนนำไปสู่การรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ และนำมาซึ่งการที่ศาลปกครองได้กลับคำพิพากษาล่าสุด ไม่ต้องชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้อง และคุ่สัญญาฝ่ายรัฐไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” จำนวนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาทนั้น
สิ่งเหล่านี้หาได้เป็น “เอกสารใหม่” หรือเนื้อหาใหม่ แต่มีอยู่แล้วในสำนวนฟ้องพิพาทมาตั้งแต่ต้น
ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดคำถาม การที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐและรัฐบาลซึ่งพ่ายคดีพิพาททั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่กลับหาทางรื้อคดีวนลูปกันใหม่ ด้วยข้ออ้างมีข้อมูลใหม่ หลักฐานใหม่ ทั้งที่การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ได้หยิบยกประเด็นฟ้องขาดอายุความตาม ม.51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 นี้ ขึ้นต่อสู้ในชั้นการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และในศาลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ขณะที่องค์กรศาลสถิตยุติธรรมก็มีการปรับเปลี่ยนผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิจารณาคดีกันใหม่ยกกระบิ ก่อนจะนำมาซึ่งการรื้อฟื้นคดีและกลับคำพิพากษาในท้ายที่สุด ต่อไปกรณีพิพาทในสัญญาปกครองระหว่างรัฐและเอกชนที่มีการยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ หรือฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น คงยึด “โมเดล” เจริญรอยตามค่าโง่โฮปเวลล์นี้ตามมาเป็นพรวน แม้ศาลจะมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดไปแล้ว ก็คงยื่นรื้อฟื้นคดีวนลูปกันใหม่อีก
แล้วต่อไปจะมีนักลงทุน (หน้าไหน) กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีก!!!