คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน รับทราบ “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566” ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเข้ามา โดยมีสาระสำคัญหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่..
1. สถานการณ์ด้านแรงงาน มีผู้มีงานทำ 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 65 ร้อยละ 1.7 เนื่องจากการขยายตัวของสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวเล็กน้อยจากปี 65 เนื่องจากภาวะภัยแล้ง
ส่วนค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างในภาพรวมและภาคเอกชน อยู่ที่ 15,412 และ 14,023 บาทต่อคนต่อเดือน และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น โดยลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 ซึ่งมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.3 แสนคน
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ และผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
2. หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 66 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมือเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยหนี้เอ็นพีแอลมีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 ของไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และ การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง
3. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.76
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ สุขภาพของคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และ โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม
4. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในเดือน เม.ย. ทำให้ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี
5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 88,719 คดี ลดลงร้อยละ 17.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีคดีอาญารวม 104,108 คดี) โดยมีคดียาเสพติดลดลงแต่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น
ส่วนด้านอุบัติเหตุทางถนน (มีผู้ประสบภัยรวม 198,685 ราย) ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีผู้ประสบภัยรวม 208,542 ราย)
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนที่ใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการ และ การบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว
6. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 โดยเป็นการร้องเรียนด้านสัญญามากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ลดลงร้อยละ 40.5 โดยเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด และ ประชาชนบางส่วนถูกนำหมายเลขบัตรประจำตัว
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ เช่น 1. การย้ายถิ่นของประชากรช่วงโควิด-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงปี 563-65 ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นของประชากรซึ่งเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานไปยังพื้นที่อื่นเนื่องจากโรงงานและสถานประกอบการปิดกิจการ และจากข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรระหว่างปี 62-65 พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น
โดยมีลักษณะการย้ายออกจากพื้นที่/จังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดงาน เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีการย้ายเข้าในพื้นที่ส่วนภูมิภาค คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และในปี 2565 จากประชากรจำนวน 2.1 ล้านคน ที่มีการย้ายมาอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี พบว่าประชากรจำนวน 1.1 ล้านคน ต้องการอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันตลอดไปหรือเป็นประชากรย้ายถิ่นถาวร
ขณะที่ประชากรอีก 1 ล้านคน เป็นประชากรย้ายถิ่นชั่วคราวและยังไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่า (1) การคาดหวังให้แรงงานเคลื่อนย้ายช่วงโควิด-19 กลับมาชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (2) แรงงานที่กลับภูมิลำเนาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น (3) แรงงานที่เคลื่อนย้ายในช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ส่งผลให้ครอบครัวของแรงงานขาดหลักประกันทางสังคม และ (4) การคืนถิ่นช่วยสร้างผลกระทบที่ดีเชิงสังคม เช่น ช่วยให้เด็กได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น
ทั้งนี้ มีแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การเก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (2) การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่น (3) การส่งเสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม และ (4) การขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น
2. จัดการซากรถยนต์อย่างไรเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามาแทนที่ ปัจจุบันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ในปี 73 ส่งผลให้รถยนต์สันดาปถูกแทนที่และมีการเลิกใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยปี 65 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานกว่า 2.7 แสนคัน ขณะที่รถยนต์ที่ใช้งานปัจจุบันมากกว่า 5 ล้านคัน เป็นรถยนต์อายุกว่า 20 ปี
การมีซากรถยนต์หรือรถเลิกใช้งานเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งการจัดการซากรถยนต์ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการของเสียจากกระบวนการรื้อถอดชิ้นส่วน/การจัดการของเสียอันตราย การแยกส่วนประกอบ โดยชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชนและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ถูกวิธีของโรงงานนอกระบบ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายเป็นภาระของท้องถิ่น
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการจัดการซากรถยนต์บนหลักการจัดการสิ่งแวดล้อม
โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้มีสถานประกอบการจัดการซากรถยนต์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน (2) ผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซากรถยนต์ให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ต้นทุนการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น (3) การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเรื่องการผลิตรถยนต์ การจดทะเบียนรถยนต์ รวมถึงการจัดการซากรถยนต์และของเสียอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
3. LGBTQ+ : หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลจาก LGBT Capital2 และ Ipsos3 ในปี 66 คาดว่า ไทยจะมีจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่มีจำนวน 4.2 ล้านคน ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
โดยจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีการผลักดันกฎหมายส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงพบปัญหาการเลือกปฏิบัติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายด้านโดยเฉพาะทางด้านอารมณ์และจิตใจ
ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างการยอมรับและการสนับสนุนตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม เป็นต้น
เสือออนไลน์