สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร แจ้งว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีราคาแพง จึงทำให้เกิดกลุ่มมิจฉาชีพนำปุ๋ยเคมีปลอม มาขายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ทำให้มีเกษตรกรลวงเชื่อ เสียเงินซื้อปุ๋ยปลอมมาใช้ กลับกลายเป็นเพิ่มต้นทุนในการเพาะปลูกแต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชผล ส่วนวิธีการตรวจสอบปุ๋ยปลอมที่ได้ผลแน่ชัดนั้นต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนทางห้องแลป
สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงแนะนำวิธีการตรวจสอบในเบื้องต้นคือ
1. ตรวจดูภาชนะบรรจุภัณฑ์ ให้เกษตรกรตรวจสอบที่ฉลากสินค้า เลขทะเบียนปุ๋ย สูตรปุ๋ย สถานที่ผลิต ชื่อการค้า ให้ชัดเจน
2. ให้เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่มีที่ตั้งชัดเจนน่าเชื่อถือแต่หากจะเลือกซื้อผ่านสื่อออนไลน์ ร้านค้านั้นต้องมีใบอนุญาตขายปุ๋ยมาแสดงให้ชัดเจน
สำหรับผู้ที่พบเห็นหรือตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิตปุ๋ยปลอมสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตพื้นที่ ของกรมวิชาการเกษตรและ ตำรวจปคบ.ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ใน 2 ข้อหา คือ
1. ผลิตปุ๋ยเพื่อการค้า ซึ่งปุ๋ยปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท
2. ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจควรเลือกซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพที่ได้รับเครื่องหมาย Q shop
กรมวิชาการเกษตร ให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ที่มีเจตนาจะเอาเปรียบหลอกขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ให้เกษตรกรหรือผู้ที่ทราบเบาะแสสามารถแจ้งได้ทันทีหากพบรถเร่ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งเบาะแสปัจจัยการผลิตปลอม ไม่ได้มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตร สายด่วน 1174