ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะผัก1และผลไม้ มีมูลค่าการส่งออกเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2563-2565 ร้อยละ 19.91 ต่อปี โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรขั้นต้น ผลไม้เป็นสินค้าหลักที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูง เห็นได้จากสถิติในปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้มูลค่ากว่า 10,160 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 –2565) พบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าเกษตร (ผักและผลไม้) มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 19.91 ต่อปี จากการเพิ่มการนำเข้าของตลาดหลักอย่างจีน โดยเฉพาะปี 2565 ที่ไทยส่งออกผลไม้ไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 85.50 และส่งออกผัก ไปยังประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.82 , 17.84 และ 8.22 ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากการที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยในปี 2565 ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 98.74 โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศต่าง ๆ นิยมนำเข้าจากไทยในปี 2565 ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1,011 ล้านบาท และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 623 ล้านบาท โดยประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.33ขณะที่ทุเรียนอินทรีย์มีมูลค่าการส่งออกกว่า 890 ล้านบาท และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าส่งออกกว่า 778 ล้านบาท โดยประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.71 ในขณะเดียวกันตามรายงานของ The Research Institute of Organic Agriculture (FiBL) ยังพบว่ามีตลาดศักยภาพอื่นๆ ที่มีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่น ประเทศแถบยุโรปอย่าง เยอรมนี และอิตาลี เป็นต้น โดยมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จาก 191 ประเทศทั่วโลกในปี 2564 สูงถึงราว 124,800 ยูโร หรือประมาณ 4.80 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 38.50 บาท)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าเกษตรของไทยจะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรขั้นต้น หรือสินค้าประเภทวัตถุดิบที่มีมูลค่าต่อหน่วยไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีรายได้หรือกำไรค่อนข้างน้อย ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยควรเร่งส่งเสริมยกระดับราคาสินค้าเกษตรของไทยไปสู่ตลาดระดับพรีเมียม โดยเฉพาะในกระบวนการที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ ทั้งในด้าน (1) การลดต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น ต้นทุนการขนส่ง การเก็บรักษา การบริหารจัดการ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ฯลฯ อันจะช่วยให้เกิดส่วนต่างต้นทุน/กำไร และระดับราคาที่แข่งขันได้ และ (2) ระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยรักษามาตรฐานให้แก่สินค้า โดยเฉพาะขั้นตอนการขนส่งสินค้า และการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการคงคุณภาพของสินค้า และลดต้นทุนที่เกิดจากความสูญเสียจากการเน่าเสียของสินค้าผักและผลไม้ตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภค เช่น ระบบ โลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้แก่สินค้าเกษตรของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ Statista ฐานข้อมูลสถิติตัวเลขและรายงานด้านการตลาดและอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้เผยแพร่รายงานสถิติการค้าสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ (Agricultural Commodities) ของญี่ปุ่นที่สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี โดยพบว่าในปี 2565 ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 886,160 ล้านเยน หรือราว 255,568.54 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 0.2884 เยน) เพิ่มขึ้นกว่า 313,600 ล้านเยน (90,442.24 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2556 ส่งผลให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นขึ้นแท่นสินค้าส่งออกหลักสำคัญของประเทศ โดยหลักการสำคัญที่ญี่ปุ่นใช้ยกระดับสินค้าเกษตร คือ การพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงวางจำหน่าย ได้แก่ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ เช่น การปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น การต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรขั้นต้น เช่น การนำข้าวมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมูลค่าตลาดด้วยการสอดแทรกเรื่องราว (Storytelling) ในสินค้าหรือขั้นตอนการผลิต ทำให้สินค้ามีความโดดเด่นน่าสนใจ ส่งผลให้สามารถตั้งราคาได้สูงขึ้น หรือแม้แต่การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดเช่นรูปร่าง ขนาด สี น้ำหนัก และรสชาติ/ระดับความหวาน เป็นต้น โดยปัจจุบันญี่ปุ่นได้มีการนำเอาเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าให้มีความสดใหม่ เช่น เครื่องสำหรับทำความสะอาด คัดขนาด ทดสอบความหวาน และเคลือบแว็กซ์สินค้า เป็นต้น รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าระหว่างการขนส่งระยะทางไกลด้วย
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากไทยจะสามารถนำแนวคิดการพัฒนาสินค้าเกษตรของประเทศต้นแบบข้างต้นมาประยุกต์ใช้แล้ว ในส่วนของภาครัฐอาจพิจารณาสร้างความร่วมมือ หรือบูรณาการการทำงานเชิงลึกและเชิงรุกร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากระบวนการผลิตไปจนถึงการจำหน่ายให้มีความสมบูรณ์ครบวงจรตลอดห่วงโซ่ทั้งด้านการควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตร และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในเรื่องความสำคัญของการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี รวมถึง มาตรฐานด้านการขนส่ง และคลังสินค้า โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาหรือคงคุณภาพและความสดใหม่ของสินค้าเกษตร และยกระดับองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิต/ ผู้ประกอบการ ด้านกลยุทธ์การตลาด และการแสวงหาแหล่งจำหน่ายสินค้าทั้งใน และระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป