กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนเกษตรกรปลูกพืชตามมาตรฐาน GAP ได้ผลผลิตคุณภาพดี ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบการรับรองมาตรฐาน GAP พืช โดยทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์รับสมัครขึ้นทะเบียน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP ให้คำปรึกษาแนะนำ และประเมินแปลงเบื้องต้น รวมทั้งรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการประเมินแปลงเบื้องต้น และประสานงานจัดส่งใบสมัครให้หน่วยตรวจรับรองในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ตลอดจนร่วมเป็นคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช)
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร จาก มกษ. 9001 - 2556 เป็น มกษ. 9001 – 2564 โดยในรายละเอียดสำคัญคือมีการปรับข้อกำหนดในการผลิตสินค้าพืชอาหารให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน เหมาะสมกับสภาวการณ์ในสังคมปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐาน ASEAN GAP มากขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรผู้ปฏิบัติงานมีสวัสดิภาพที่ดี
สำหรับ GAP พืช คือ "การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (Good Agricultural Practices for Food Crop)" เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ ในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ในระดับสวน/แปลงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยจากสารเคมี จุลินทรีย์และศัตรูพืช มีคุณภาพเหมาะสมต่อการบริโภคหรือความต้องการของผู้บริโภค โดยคำนึงถึงการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย สวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างความยั่งยืน
ในส่วนของข้อกำหนด 8 ประการ เพื่อขอรับรองแหล่งผลิต GAP พืช สำหรับเกษตรกร มีดังนี้ 1) น้ำที่ใช้ ต้องมาจากแหล่งน้ำที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 2) พื้นที่ปลูก ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน สิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 3) วัตถุอันตรายทางการเกษตร มีการจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิด ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ถูกต้อง และใช้ตามคำแนะนำหรือตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร 4) การจัดการกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิต มีการจัดการที่ดีในการใช้ปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน 5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลิตผลที่มีอายุเหมาะสมและถูกสุขลักษณะ ตามความต้องการของตลาดหรือข้อกำหนดของลูกค้า 6) การพักผลิตผล การขนย้าย และการเก็บรักษา มีการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะของสถานที่ วิธีการขนย้าย การพักผลิตผล และ/หรือเก็บรักษาผลิตผล 7) บุคลากร ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจ หรือได้รับการฝึกอบรมสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ และ 8) เอกสาร บันทึกข้อมูล และการตามสอบ มีบันทึกข้อมูลการใช้สารเคมี ประวัติการฝึกอบรม ข้อมูลผู้รับซื้อผลิตผลการปฏิบัติงานก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษาข้อมูลการปฏิบัติงานและเอกสารสำคัญอย่างน้อย 2 ปี ของการผลิตติดต่อกันหรือตามที่ลูกค้าต้องการ
นายรพีทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับจากการปลูกพืชตามระบบมาตรฐาน GAP คือ ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในการผลิตพืชอย่างมีระบบ ป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรคและศัตรูพืช ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับการรับรองระบบการผลิตและผลผลิตเป็นที่ยอมรับ เป็นการยกระดับในการสร้างมูลค่าของผลผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้บริโภคพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังทำให้เกิดรายได้จากการขายผลผลิตที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้วย โดยเกษตรกรสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง