กลุ่มนายจ้างชูธงเชียร์ โครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. สู้แรงบีบรัฐบาล กดดัน “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เหต! เป็นความลงตัวอย่างเหมาะสม ระหว่าง “นายจ้าง-ลูกจ้าง” เผย! เอกชนพร้อมจ่ายแพง หากเม็ดเงินตกอยู่ในมือแรงงานไทย ชี้! ทุกวันนี้ แรงงานต่างด้าว 6-7 ล้านคน แห่เข้าไทยหวังหยิบประโยชน์จากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐไทย
………
ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ ที่ชื่อ “ต่างด้าว! เขย่าปม ‘ขยับขึ้น’ ค่าแรงขั้นต่ำของไทย” (http://www.natethip.com/news.php?id=7680)...
มีประเด็นที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ทิ้งไว้ให้คนเป็น “ผู้นำรัฐบาล” และผู้เกี่ยวข้องฯ ได้ขบคิด! โดยเฉพาะหากรัฐบาล...คิดจะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในทุกๆ มิตินั้น
ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องนี้...มันไม่ได้มีแค่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ...เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐสามารถจะเสริมเข้าไปได้อีก? ซึ่งจะว่าไปแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็คิดและได้ลงมือทำไปบ้างแล้ว
โดยเฉพาะมาตรการ... “ลดรายได้ - เพิ่มรายจ่าย” ให้กับคนไทยส่วนใหญ่ รวมถึงมาตรการสำคัญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ นั่นคือ...การแก้ไปปัญหาหนี้ทั้งระบบ
ทั้งส่วนที่เป็นหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ
แทนที่จะเป็นเรื่องของการปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ก็ไม่ใช่ “อำนาจรัฐ” และรัฐก็ไม่มี “อำนาจ” ที่จะไปสั่งการให้ “คณะกรรมการไตรภาคี” ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่รัฐบาลต้องการ อย่างที่คาดหวังกันไว้...
ที่สำคัญ! กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย กลับไม่ใช่คนไทย หากแต่เป็น “แรงงานต่างด้าว” มากถึง 6-7 ล้านคน เป็นอย่างต่ำ ที่ต่างพากันอพยพ...เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย
ดูเหมือนว่า...ปมค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว จะเป็นตัวกระตุ้นให้ “แรงงานต่างด้าว” ไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทย มากกว่าปกติด้วยซ้ำไป
การที่รัฐบาลจะสร้างสวัสดิการใหม่ๆ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย...แรงงานไทยนั้น บัตรประจำตัวประชาชนไทย หรือ “บัตรประชาชน” น่าจะเป็นอีกทางเลือก ที่รัฐบาลไทยสามารถจะแยกแยะให้แตกต่างไปจาก “แรงงานต่างด้าว” ได้
เรื่องทำนองนี้...รัฐบาลทั่วโลก เขาก็ทำกัน...ทำเพื่อปกป้องคนของเขา ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือผิดหลักการแห่งมนุษยธรรม แต่อย่างใด?
อย่าลืมว่า...แต่ละปี รัฐบาลไทยจะต้องอุดหนุน...เยียวยา โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีของคนไทย มาดูแลช่วยเหลือเป็น “สวัสดิการ” ให้กับ “แรงงานต่างด้าว” ทั้ง 6-7 ล้านคน รวมถึงบุตรหลานของพวกเขาที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกบนแผ่นดินไทย...
ไหนจะเป็นงบทางด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านรัฐสวัสดิการอื่นๆ สารพัด...
บางกลุ่มก้อนของ “แรงงานต่างด้าว” กลับจะทำตัวให้เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อวิถีชีวิตของคนไทยและประเทศไทย ไปเสียอีก ข่าวคราวก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ
หันกลับมาสู่ประเด็น...การปรับขึ้นค่าแรง! ย้ำว่า...เป็นการปรับขึ้นค่าแรง มิใช่...ค่าแรงขั้นต่ำ!!! ที่สัมพันธ์กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน “มือใหม่” ไร้ประสบการณ์...ไร้ฝีมือ
เรื่องทำนองนี้ต่างหาก...ที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น...คณะกรรมการไตรภาคี ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง แม้กระทั่ง ฝ่ายลูกจ้างเอง ก็พร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาล
หากทุกอย่างชัดเจน! และตอบคำถามให้ได้ว่า...ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงนั้น จะตกอยู่บนแผ่นดินไทย และอยู่ในมือของคนไทยหรือไม่? แค่ไหน? อย่างไร?
ที่ผ่านมา ดูเหมือน “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มากจนออกนอกหน้า นัยว่า...เพราะก่อนหน้านี้ พรรคแกนหลักของรัฐบาลได้เดินสายหาเสียงในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน
ถ้าไม่ทำ...หรือทำไม่ได้ เกรงจะกระทบกับแผนการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ในสมัยหน้า...
โดยไม่ดูด้วยซ้ำไปว่า...ใครกันที่จะได้ประโยชน์จากนโยบาย “สูง” ในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ...
ถามว่า...ฝ่ายนายจ้างพร้อมหรือไม่? หากจะต้องควักเงินจ่ายเพิ่มขึ้นให้กับแรงงานที่มีส่วนในการสร้างความมั่งคั่งทางการเงินและสร้างความมั่นคงในภาคธุรกิจของพวกเขา???
คำตอบคือ...พร้อม!!!
แต่เป็นความพร้อมภายใต้เงื่อนไขที่คนไทย...แรงงานไทย โดยเฉพาะ “แรงงานมีฝีมือ” จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด! แทนที่จะเป็น “แรงงานต่างด้าว” เหล่านั้น
แนวคิดของกระทรวงการคลัง โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยการผลักดัน โครงการนำร่องการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับผู้กู้ยืมในหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) จึงน่าจะเป็นคำตอบของแนวคิดที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” มีโอกาสได้เข้าร่วมคณะสื่อมวลชน...สัมภาษณ์ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงประเด็นดังกล่าว และจะหยิบยกประเด็นอันเป็นสาระสำคัญที่จะสอดรับกับแนวคิดการจะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย...แรงงานไทย มานำเสนอในบทความชิ้นนี้...
หากลงลึกในรายละเอียดของโครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. คงพอจะแยก “คำสำคัญ” ออกมาได้ 2 คำ
หนึ่ง... Reskill หรือ การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน
อีกหนึ่ง... Upskill หรือ การยกระดับทักษะเดิม
ทั้ง 2 คำ (Reskill/Upskill) คือ สิ่งที่ทุกฝ่ายต่างถวิลหา และพร้อมจะขยับ – ปรับตัวให้เข้าใกล้นโยบายของรัฐให้มากที่สุด โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานให้กับแรงงานที่มีการยกระดับและพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้ว
โดยโครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. ก็คือ โครงการที่จะเปิดโอกาสให้คนไทย...แรงงานไทย ได้กู้ยืมเงินเพื่อเข้าเรียน/อบรมในหลักสูตรวิชาชีพต่างๆ ที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง
พูดง่ายๆ เป็นแรงงานมีฝีมือที่ขาดตลาด ในขณะที่ความต้องการในตลาดแรงงานมีสูงมาก ใครผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น (ไม่เกิน 6 เดือน) เหล่านั้น ไม่เพียงไม่ตกงาน แต่ยังอาจได้รับผลตอบแทน ทั้งในรูปของค่าจ้างรายวัน และ/หรือ เงินเดือนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เช่นที่รัฐบาลกำลังกดดัน...คณะกรรมการไตรภาคี ให้ทำการปรับสูตรคำนวนหาอัตราค่าจ้างของ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ใหม่
จนสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเสียเอง!!!
ทั้งนี้ กยศ. จะให้กู้ยืมฯ แก่ผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 – 60 ปี โดยให้กู้ต่อคนไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี กำหนดระยะผ่อนปรน โดยไม่ต้องชำระคืนเงินกู้ใน 2 ปีแรก หลังจากเรียนจบและทำงาน (เริ่มผ่อนในปีที่ 3 และ 4) หากผู้กู้ฯจะต้องผ่อนชำระคืนเป็นเงิน 2,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 25 เดือน และถ้ามีการผิดนัดชำระ ก็จะเสียค่าปรับเพียง 0.5% ต่อปี เท่านั้น
นำร่องด้วยวิชาชีพ “บริบาล” (การดูแลผู้สูงอายุและเด็กก่อนวัยเรียน) ซึ่งผู้จัดการ กยศ. ยืนยันว่า...เมื่อเรียน/อบรมจบภายใน 6 เดือนแล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมฯ จะมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการในสาขาวิชาชีพนี้สูงมาก
ไทม์ไลน์ของโครงการนี้ นายชัยณรงค์ บอกว่า...ภายในเดือนธันวาคมนี้ กยศ.จะเร่งจัดทำระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการให้กู้ยืมฯ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม บอร์ด กยศ.ได้พิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในปีนี้ เพื่อที่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป จะได้ทำสัญญากับโรงเรียนบริบาลต่างๆ พร้อมกับเปิดให้ผู้ที่สนใจได้ยื่นขอกู้ยืมเงินเพื่อเรียนในหลักสูตรวิชาชีพบริบาล ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในระยะแรก ก่อนจะขยายผลในระยะต่อๆ ไปกับหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้นอื่นๆ
“ปัจจุบัน กองทุนฯ ได้ทำ MOU กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เรียบร้อยแล้ว และได้แต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ที่มีรองผู้จัดการ กยศ. (ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ) เป็นประธานฯ คาดว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป กองทุนฯ ก็น่าจะทำ MOU กับสถานศึกษา (รร.บริบาล) ต่างๆ ได้ และนักเรียนสามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้เลย” ผจก. กยศ. ย้ำ
ผ่านไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อล่วงสู่ไตรมาส 2 โครงการต่อเนื่อง Reskill/Upskill จะถูกผลักดันตามมาในทันที! สาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่จะถูกนำเข้าสู่โครงการนี้ ล้วนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอันดับต้นๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพทางด้าน...
ช่างเชื่อมใต้น้ำ, หลักสูตรช่างซ่อมแอร์, ช่างซ่อมลิฟท์, ช่างตัดผม รวมถึง หลักสูตรสอนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ
ส่วนวงเงินที่ใช้ในโครงการฯ นี้ เบื้องต้น กยศ. กำหนดไว้ที่ 3,000 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินรวมที่ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในโครงการปกติ เฉลี่ยปีละกว่า 40,000 ล้านบาท
“หากเฟสแรกประสบผลสำเร็จ กระทั่งเริ่มดำเนินการต่อในเฟสที่ 2 และเฟสต่อๆ ไป กยศ. ก็พร้อมจะเสนอขอวงเงินเพิ่มเติมจากบอร์ก กยศ. ซึ่งก็ไม่มีปัญหาในเรื่องเงินงบประมาณ เนื่องจาก กยศ. มีเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นระบบเงินทุนหมุนเวียนจากการที่ผู้กู้ในโครงการปกติทำการผ่อนชำระคืนกลับมาในทุกๆ เดือน โดยไม่จำเป็นจะต้องของบประมาณจากรัฐบาลแต่อย่างใด” ผู้จัดการ กยศ. ระบุ
ภาพอนาคตของโครงการ Reskill/Upskill นี้ กล่าวกันว่า...ไม่เพียงจะเปลี่ยนแนวคิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เนื่องจากเยาวชนและประชาชนบางส่วนจะหันมาเรียนหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น (6 เดือน) เพิ่มมากขึ้นแทนที่จะเรียน 4 ปีในการเรียนการสอนทั่วไป อีกทั้ง โครงการดังกล่าวยังจะสอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
บางวิชาชีพก็ไปสนับสนุนกับนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาล ซึ่งเตรียมจะดำเนินงานเชิงรุกในปีหน้า
ซึ่งนั่นจะเป็นการเปิดและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้สนใจเข้าอบรมในโครงการฯ ข้างต้นของ กยศ.
โดยในส่วนของสถาบันการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปเอง ก็อาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอน “ระยะสั้น” (6 เดือน) ในสาขาวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานควบคู่กันไป เพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียโอกาส หากคนรุ่นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเรียนการสอนในสถานการณ์นี้ เกิดขึ้นจากโครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาทั้งในระบบปกติ (หลักสูตร 4 ปี) และหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น (6 เดือน) นั้น ผู้จัดการ กยศ. ยืนยันว่า จะต้องมีอย่างแน่นอนและอยู่ในอัตราที่สูง จากข้อมูลตัวเลขที่ กยศ. ทำศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า เงินที่ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในทุกๆ 100 บาทนั้น จะได้รับผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI) กลับคืนมาเฉลี่ยสูงถึง 2.48 เท่า ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับมิติที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาการศึกษา 2.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 3.ด้านการมีงานทำ 4.ด้านสาธารณสุข และ 5.ด้านส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศ
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” มีโอกาสได้คุยในประเด็น Reskill/Upskill กับแกนนำตัวแทนฝ่ายนายจ้าง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ สโมสรกองทัพบก นำโดย ดร. ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนความเสี่ยง (ตัวแทนจากภาคเอกชน) กระทรวงแรงงาน นายชิตโชค สิงหรา ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย (สภา 9) และ นายประสาน ทองทิพย์ ตัวแทนสภาองค์การนายจ้าง โดยเฉพาะรายหลังเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดของรัฐบาล ในการจะปรับเพิ่มทักษะการทำงานให้กับลูกจ้าง เพื่อมากินค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงกว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ดังกล่าว และอยากรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ดำเนินการผ่านทาง กยศ. ในการดำเนินโครงการนี้โดยเร็ว...
ด้วยเชื่อมั่นว่า... คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานชาวไทยจะดีได้นั้น หาใช่เป็นเพราะ...รัฐบาลกดดันให้นายจ้างปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” หากแต่จะดีได้ ต้องเป็นเพราะทุกอย่างได้จูนและปรับตัวเข้าหากันอย่างเหมาะสม
ฝ่ายนายจ้างพร้อมจ่ายแพง แต่คุณภาพแรงงานของลูกจ้างก็ต้องสูงตามไปด้วย
โครงการ Reskill/Upskill จึงเป็นคำตอบทุกเรื่องนี้อย่างแท้จริง!!!
ถึงบรรทัดนี้ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ขอฟันธงว่า...โครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. มันมิต่างจากการ “ชุบร่างทอง” ให้กับแรงงานไทย วัย 18 – 60 ปี ที่แรงงานต่างด้าวไม่มีเอี่ยว และจะมีแต่คนไทยเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้
เมษายน 2567!!! ทุกอย่างก็จะมีความชัดเจน! โอกาสของสารพัดแรงงานในสายวิชาชีพ โฟกัสเฉพาะคนถือสัญชาติไทย...ได้เดินทางมาถึงจุดแห่งความพอดีอย่างลงตัว กับ...โครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. ในสังกัดกระทรวงการคลัง แล้ว!